‘บินไทย’เผยผลดำเนินงานปี 60 ขาดทุนบักโกรก 2 พันล้าน

0
191

‘การบินไทย’ เผยผลการดำเนินงานประจำปี 60 ของ บกท.และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating profit) จำนวน 2,856 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29.8% ชี้ผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น 24.2% รวมทั้งรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน 7.7% รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน และจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว บกท. ขาดทุนสุทธิ 2,072 ล้านบาท

เรืออากาศเอกกนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารงานกฎหมายและบริหารทั่วไป ปฏิบัติงานในหน้าที่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บกท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ บกท. และบริษัทย่อยประจำปี 2560 ว่ามีรายได้รวม 191,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท (6.3%) โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ค่าโดยสาร ค่าน้ำหนักส่วนเกิน ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้จากการบริการอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายรวม 189,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,604 ล้านบาท (7.1%) เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 4,879 ล้านบาท (10.8%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24.2% ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 8,313 ล้านบาท (6.6%) ค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิ ลดลง 588 ล้านบาท (11.5%) ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 2,856 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,215 ล้านบาท
“ปี 2560 บกท. และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว 979 ล้านบาท รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 3,191 ล้านบาท การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,581 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 2,072 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของ บกท. 2,107 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท ในขณะที่ปี 2559 มีกำไร 0.01 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 บกท. และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 280,775 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,349 ล้านบาท (0.8%) หนี้สินรวมของ บกท. และบริษัทย่อย 248,762 ล้านบาท ลดลง 774 ล้านบาท (0.3%) และส่วนของผู้ถือหุ้น 32,013 ล้านบาท ลดลง 1,575 ล้านบาท (4.7%) จากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ บกท. รวมถึง บกท. ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ตัวใบพัดในเครื่องยนต์ (Turbine Blade) ของเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ รุ่น TRENT1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ที่มีอยู่ในฝูงบิน จำนวน 6 ลำ ทำให้กระทบกับการให้บริการ ตารางการบิน เกิดค่าใช้จ่ายและสูญเสียโอกาสการหารายได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเรียกค่าชดเชยจากผลกระทบดังกล่าว”
นอกจากนี้ เรืออากาศเอก กนก 2560 บกท. เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กร คือ การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ ดังนี้ 1) พัฒนาเครือข่ายการบินที่แข่งขันได้ ทำกำไรและลดความซับซ้อนของฝูงบิน 2) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างรายได้ 3) สร้างความเป็นเลิศในการให้บริการ (Service Ring) 4) มีต้นทุนที่แข่งขันได้และการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ 5) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืนและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพดีเยี่ยม 6) บริหารบริษัทในเครือและกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน เช่น การเปิดเส้นทางบินตรงสู่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในจุดบินที่มีศักยภาพและขยายเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สายการบินไทยสมายล์ เป็นต้น
“บกท. ได้เพิ่มศักยภาพฝูงบินโดยรับมอบเครื่องบินใหม่ จำนวน 7 ลำ และปลดระวางเครื่องบินเช่าดำเนินงาน A330-300 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 100 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 11.5 ชั่วโมง เป็น 12.0 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 6.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 14.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 73.4% และสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3%”