เบทาโกร จับมือจุฬาฯ เปิดตัวโครงการ Social Shaker Season 1 ภายใต้ความร่วมมือแบบ U-I-G

0
142

สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวโครงการ “Social Shaker Season 1” พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในรูปแบบ U-I-G (University, Industry, Government) สู่ผลกระทบที่มากขึ้นในการพัฒนาสังคม” โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร มณีรัตน์ อนุโลมสมัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) และ ชยุตม์ สกุลคู ประธานบริษัท Tact Social Enterprise ณ หอประชุมอาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

U-I-G คือ ความร่วมมือภายใต้ความสัมพันธ์ของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคมหาวิทยาลัย (University) ภาคธุรกิจ (Industry) และ ภาครัฐบาล (Government) เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่หลุดออกจากกรอบเดิม โดยมีบริษัท Tact Social Enterprise ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามกลุ่ม STEPS ภายใต้การดูแลของสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากเครือเบทาโกร เข้ามาดำเนินงานเชื่อมโยงระหว่าง 3 ภาคส่วน ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาทักษะของตนเองผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยบริหารจัดการงบประมาณด้านซีเอสอาร์ของบริษัทเอกชน ให้ตอบโจทย์ความต้องการจริงของชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งลักษณะการดำเนินงานร่วมกันแบบ U-I-G มีลักษณะดังนี้ University: ใช้พลังและสติปัญญาของนิสิตในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน เพื่อกระจายองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาทักษะในการทำงานของนิสิตรวมไปถึงจิตสำนึกต่อสังคม Industry: จัดสรรงบประมาณซีเอสอาร์ภายในบริษัทให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนพื้นที่และความยั่งยืนขององค์กร และ Government: เปิดรับความร่วมมือจากองค์กรภายนอกเข้ามาร่วมพัฒนาอย่างมีทิศทาง โดยอาศัยโจทย์จากความต้องการจริงของชุมชน ดำเนินการโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่เสมอ

สำหรับ Social Shaker Season 1 นี้ จะดำเนินโครงการพัฒนาสังคม ด้วยกัน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ให้เกิดการพัฒนาจุดแข็ง มีการวางแผนชีวิต และเกิดความตระหนักถึงสังคมส่วนรวม ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน โครงการพัฒนาร้านอาหารให้มีคุณภาพ ทั้งในมิติของ ความปลอดภัยและคุณภาพ (Safety & Quality) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสบการณ์ร่วมของลูกค้า (Customer Experience) เพื่อแก้ไขปัญหาของร้านอาหารในสังคมเมือง และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน