บิ๊กตู่”นั่งหัวโต๊ะเคาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 200,000 ล้านบาท ระยะทาง 220 กิโลเมตร คาดผลตอบแทน 700,000 ล้านบาท ประเดิมโครงการยักษ์ในอีอีซี เตรียมประกาศประมูลนานาชาติเดือนมี.ค.นี้ “สมคิด”สั่งเชิญทูตทุกประเทศร่วมฟังความคืบหน้าอีอีซี หวังดึงร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคือสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 200,000 ล้านบาทระยะทาง 220 กิโลเมตร และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ก่อนออกเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์ให้ผู้ที่สนในยื่นข้อเสนอเข้ามาต่อไป และที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไปศึกษาการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดเดิม กรอบระยะเวลาศึกษา 4 เดือน
ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมจากกรุงเทพฯไปจ.ระยอง ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีจุดเริ่มต้นจากสนามบินดอนเมือง ผ่านพญาไท มักกะสัน ไปฉะเชิงเทรา แล้วเลี้ยวไปสนามบินอู่ตะเภาและไปจ.ระยอง เป็นโครงการที่เชิญให้เอกชนมาร่วมลงทุนหรือพีพีพี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและให้แล้วเสร็จตามกำหนด สำหรับการเวนคืนจะมีอยู่ช่วงเดียวคือที่จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเวลาที่รถไฟความเร็วสูงเลี้ยวโค้งจะต้องใช้รัศมีมาก ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)จะรับหน้าที่เตรียมเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์และนำเสนอให้ครม.พิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะประกาศทีโออาร์ให้เอกชนเข้าร่วมได้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกนศ.กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถือเป็นอนาคตของภาคตะวันออกและมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจสูง มีความสำคัญดังนี้คือ เป็นรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อม 3 สนามบินและด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้เวลาจากกรุงเทพไปสนามบินอู่ตะเภา 45 นาที ปกติถ้าใช้รถยนต์จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตรถไฟความเร็วสูงจะทำให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ได้อย่างแท้จริง เพราะใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกับการเดินทางจากสนามบินนาริตะไปโตเกียว
สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านบาทตั้งแต่ก่อสร้างจนถึงพัง และเฉพาะ 50 ปีแรกมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท เทียบกับเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาทถือว่าคุ้ม
“ในช่วงเดือนมี.ค.จะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลแบบนานาชาติ หรืออินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้ง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง การประมูลจะเป็นรูปแบบ เน็ตคอสท์ คือใครยื่นเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยจะเชิญชวนผู้ที่สนใจจากทั่วโลกมาร่วมประมูลเปิดกว้างให้ทุกค่ายที่สนใจ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่สนใจจำนวนมากทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นอีกหลายประเทศ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในห้องประชุมว่า ต่อไปพอเริ่มกระบวนการต่างๆไปถึงระดับหนึ่ง จะขอเชิญทีมท่านทูตต่างประเทศที่มีอยู่ในประเทศไทยทุกประเทศเข้ามาร่วมรับฟังความคืบหน้าของโครงการในอีอีซีจากเลขาธิการอีอีซีและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ถูกจับจ้องว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร”