ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ มอบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม CEN/TS 16555-1:2013 แก่ 3 สายธุรกิจของซีพีเอฟ สายธุรกิจไก่เนื้อ สายธุรกิจสัตว์น้ำ และสายธุรกิจเป็ดเนื้อ พร้อมแนะภาคธุรกิจเร่งปรับตัวทั้งด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรฐาน CEN/TS 16555 หนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรฐาน CEN/TS 16555 ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมขององค์กร สำหรับภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ เพราะเป็นมาตรฐานที่มีกระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรม จากการนำความเห็นหรือความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้า เพื่อการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ ได้ตรงตามต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกัน มาตรฐาน CEN/TS 16555 ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนนโยบายของประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพราะการก้าวสู่ 4.0 ต้องมีการคิดค้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากนวัตกรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ตัวผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ แต่ยังมีเรื่องของกระบวนการ เทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้ บริการ รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม การค้า บริการ และการเกษตร หากมีการพัฒนานวัตกรรม ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
“ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เห็นได้จากมูลค่าส่งออก ดังเช่นในธุรกิจอาหารและการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหรือเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเกษตรกรรม และมีวัตถุดิบที่มาจากภาคเกษตรค่อนข้างมาก ดังนั้น โอกาสในการสร้างคุณค่าเพิ่มจากผลิตผลด้านการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของประเทศจะมีสูงมาก” นางพรรณี กล่าว
นางพรรณี ยกตัวอย่างภาคเอกชนที่มีความตั้งใจส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่องค์กร อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยสร้างแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใหญ่หรือเล็ก ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใช้เป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการก้าวตามหรือก้าวให้ทัน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ผอ.สถาบันรับรองมาตรฐาน ไอเอสโอ ได้กล่าวถึงแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน CEN /TS 16555 ว่าเริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของอาหารและเครื่องจักรกลเกษตรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเริ่มขยายสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ และมีแนวโน้มที่จะขยายไปอีกในหลายเรื่อง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า พลาสติก แฟชั่น/เครื่องนุ่งห่ม หุ่นยนต์/Automation การบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรฐาน CEN/TS 16555 คือ มาตรฐานที่คณะกรรมการว่าด้วยการมาตรฐานของยุโรปกำหนดขึ้น เป็นมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม มุ่งให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบ ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรให้สามารถดำเนินการภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถสร้างนวัตกรรมได้เป็นผลสำเร็จ และช่วยในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร
ด้าน นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการนวัตกรรม ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีเส้นทางที่ชัดเจนสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เดินตามเกณฑ์ของยูโรเปี้ยน สแตนดาร์ด คาดว่าในปี 2562 จะผลักดันทุกหน่วยธุรกิจหลักในองค์กรให้ได้รับใบรับรองมาตรฐาน CEN/TS 16555 เพื่อให้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของซีพีเอฟ ได้รับการรับรองมาตรฐานนวัตกรรมสากล โดยปัจจุบันซีพีเอฟมีนวัตกรรมที่ได้รับรองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วรวม 150 ผลงาน และตั้งเป้านำนวัตกรรมของบริษัทเข้าจดรับรองสิทธิบัตรให้ได้ 500 ผลงานในปี 2563
“ปีนี้เป็นปีที่เราจะยกระดับนวัตกรรมสู่สากล เราก็ไปเอาเกณฑ์ CEN/TS 16555 ซึ่งมี 83 ตัวชี้วัดจึงจะผ่านเกณฑ์ดังกล่าว วันนี้ ซีพีเอฟ มี 9 หน่วยธุรกิจหลักที่ผ่านเกณฑ์นี้แล้ว คาดว่าปีหน้าจะผลักดันให้ทุกหน่วยธุรกิจผ่านให้หมด เราอยากเป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานนี้” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร กล่าว
ทั้งนี้ โรงงานของซีพีเอฟที่ได้ประกาศนียบัตรรับรองระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม CEN/TS 16555 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) มี 9 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป หนองจอก โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ หนองแค บริษัท ซีพี เมจิ บริษัทเกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท เคเอสพี อุปกรณ์ จำกัด ซึ่งทั้ง 6 หน่วยธุรกิจได้รับการรับรองฯเมื่อปี 2559 และล่าสุด ในปี 2560 มี 3 สายธุรกิจของซีพีเอฟ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว เพิ่มขึ้น คือ สายธุรกิจไก่เนื้อ สายธุรกิจสัตว์น้ำ และสายธุรกิจเป็ดเนื้อ