ภายหลังกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการการส่งออกทั้งปี 2560 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 236,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวที่ 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี และคาดปี 2561 การส่งออกจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจในเอเชีย ผนวกกับทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นพลังหนุนให้การส่งออกปี 2561 ทะยานโต 5-7%
เมื่อการส่งออกแปลงร่างเป็น “พระเอก”ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าตามโหมดขนส่งต่างๆเพิ่มทวีคูณมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ท่าเรือ” ที่ถือเป็นประตูการค้าที่รองรับและกระจายสินค้าและตู้สินค้าปริมาณมหาศาลออกสู่ทุกทั่วมุมโลก ทำให้การพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้านับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการขนส่งอื่นๆ เพื่อรองรับปริมาณของการเข้าออกของสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตเศรษฐกิจ
แม้ในอดีตที่ผ่านมา ท่าเทียบเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ในเขตภาคตะวันออก ที่บริหารงานโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นับเป็นท่าเรือหลักในการขนถ่ายสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปมาเป็นเวลานาน และด้วยจำนวนตู้สินค้าที่ผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้น การพัฒนาท่าเรือและการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ล่าสุด ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เตรียมเปิด “ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G” ยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศกับท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)และเชื่อมโยงท่าเรือในลุ่มนำเจ้าพระยา ท่าเรือชายฝั่งภายในและต่างประเทศ รองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู./ปี ด้วยงบประมาณ 425 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุน(IRR) 22% คืนทุนไม่เกิน 6 ปี คาดเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคมนี้
อีกทั้งยังทุ่มเงิน 1.3 พันล้านบาท ก่อสร้างคลังสินค้าส่งออกรูปแบบใหม่ “Cross Docking” หนุนการขนส่งสินค้าใช้เวลาลดลง หมุนเวียนรถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 2 รอบ เป็น 3-4 รอบ รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 100,000 ทีอียู มีผลตอบแทนการลงทุน 11-12% ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี คาดเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 โดยการท่าเรือฯ จะบริหารโครงการเอง
ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G” เชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ
“ปัจจุบันมีแนวโน้มการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าทางเรือของโลกมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการพัฒนา สร้าง/ต่อเรือขนาดใหญ่เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่มากขึ้น สามารถขนส่งในเส้นทางระยะไกลขึ้น ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขนส่งในรูปแบบ Hub and Spokes เช่น การขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างลำเรือ (Transhipment ) ซึ่งเรือแม่ที่มีขนาดใหญ่จะมุ่งเน้นการเทียบท่าเฉพาะท่าเรือที่มีศักยภาพในเส้นทางนั้นๆเป็นหลัก แล้วใช้เรือลำเลียงหรือเรือชายฝั่งสำหรับกระจายสินค้า/ตู้สินค้านั้นต่อไปยังท่าเรืออื่นๆ หรือในภูมิภาคของประเทศนั้นๆแทน” ปรารภแรกถึงเทรนด์การขนส่งทางเรือรูปแบบใหม่กับ Logistics Time ของ“โกมล ศรีบางพลีน้อย” ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.)
ถึงกระนั้น ผอ.ทกท.ระบุถึงที่มาที่ไปของการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ว่าท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือแม่น้ำ จึงมีช่วงเวลาการขึ้น-ลงของน้ำ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านความลึกของร่องแม่น้ำ จึงทำให้เรือที่จะผ่านเข้ามายังท่าหรือจอดเรือของท่าเรือกรุเทพจะต้องมีขนาดไม่เกิน 12,000 เดทเวทตัน ยาวไม่เกิน 172 เมตรและกินน้ำลึกไม่เกิน 8.2 เมตร ทำให้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าเพื่อทำการขนถ่าย-บรรทุกสินค้า/ตู้สินค้าได้ ดังนั้น สินค้า/ตู้สินค้าที่บรรทุกมากับเรือแม่ขนาดใหญ่ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ท่าเรือกรุงเทพ ต้องทำการขนถ่าย-ลงพักกองเก็บไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการบรรทุกสินค้า/ตู้สินค้ามาโดยเรือชายฝั่งมายังท่าเรือกรุงเทพ
“ทกท.พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งคือ ท่า20G บริเวณกองท่าบริการตู้สินค้า 2 แต่เนื่องจากโครงการสร้างมีการสร้างมานานมากกว่า 40 ปี และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการวางของปั่นจั่นยกตู้สินค้าและตู้สินค้า จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ให้มีบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยในระดับสากล เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง Modal Shift ไปสู่ระบบราง ทางน้ำและท่อ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ และส่งเสริมการเทียบเรือชายฝั่งภายในประเทศ เพื่อสร้างมูลค้าเพิ่มให้กับองค์การ โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน รวมถึงให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่จะใช้บริการ ก่อให้เกิดความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายมีคุณภาพเกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างแท้จริง”
รองรับตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี เปิดบริการมี.ค.นี้
อย่างไรก็ดี นายโกมล กล่าวต่อว่าแนวโน้มปริมาณตู้สินค้าที่มากับเรือชายฝั่งในปี 2553 ถึงปี 2555 มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2555-ปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่มากับเรือชายฝั่งอยู่ในอัตราเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก (ประมาณ 60,000-70,000 TEUs/ปี )เนื่องจากเรือชายฝั่งต้องใช้ระยะเวลาในการรอเรือนำเข้าเทียบท่า ดังนั้น การปรับปรุงท่าเรียบเรือ 20G ให้เป็นท่าเรียบเรือชายฝั่งโดยเฉพาะจะส่งผลให้ในสิ้นปีงบประมาณ 2561 ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือชายฝั่งหรือลำน้ำ ทกท.เพิ่มขึ้นเป็น 80,000TEUs และมีแนวโน้มสูงขึ้น
“ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G จะมีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 60,000 ที.อี.ยูต่อปี คาดว่าจะรองรับความต้องการขนส่งสินค้าได้ 10-20 ปี โดยมีพื้นที่บริเวณหน้าท่ายาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง(Rail Mounted Gantry Crane: RMG) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน รองรับเรือชายฝั่งได้พร้อมกัน 2 ลำ มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าติดท่าเรือ รองรับการขนส่งด้วยเรือท้องแบน(Barge) ไม่ต่ำกว่า 60 ที.อี.ยูต่อเที่ยว อีกทั้งยังสามารถตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากรผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ สามารถส่งตู้สินค้าไปเปลี่ยนถ่ายขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกได้ทันที นับเป็นท่าเรือแรกที่มีการตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าที่ต้นทาง โดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำที่ท่าเรือแหลมฉบังอันเป็นท่าเรือปลายทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรทางบกที่ท่าเรือแหลมฉบังลงได้”
ส่วนงบประมาณในการลงทุนอยู่ที่ 425 ล้านบาท มีผลตอบแทนการลงทุน(IRR) 22% และคาดว่าจะคืนทุนไม่เกิน 6 ปี โดยการก่อสร้างและติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ จากนั้นจะทดสอบระบบในเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงกระนั้น การท่าเรือฯยังได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อลดค่าธรรมเนียมการบรรทุกสินค้าลงท่าเรือชายฝั่ง 20G ไปยังท่าเรือแหลมฉบังลง 15-20% ในระยะแรก เพื่อเป็นการดึงดูดให้เอกชนมาใช้บริการ โดยคาดว่าในปี 2561จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 20-30% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกไปท่าเรือแหลมฉบังได้ 2-3 หมื่นคัน
ทุ่ม 1.3 พันล้าน ผุดคลังสินค้าหนุนส่งออก
นอกจากนี้ ผอ.ทกท.ยังเปิดเผยถึงแผนการลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพื่อสนับสนุนการส่งออกว่าในปี 2661นี้ ทกท.จะลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพื่อสนับสนุนการส่งออกขนาด 10,000 ตารางเมตร ด้วยวงเงิน 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีคลังสินค้าเพียง 1 แห่งเท่านั้น ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนที่เหลือเก็บสินค้าในลานกว้างขนาด 120 ไร่ ซึ่งทำให้สินค้าเกิดความเสียหายได้เมื่อเกิดฝนตก
“คลังสินค้าแห่งใหม่นี้ จะเป็นคลังสินค้ารูปแบบ Cross Docking มีความโดดเด่นด้านการขนส่งสินค้าที่ใช้เวลาลดลงและมีปริมาณการหมุนเวียนรถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 2 รอบ เป็น 3-4 รอบ สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 100,000 ทีอียู โดยจะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 1 ปี 6 เดือน และจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 มีผลตอบแทนการลงทุน 11-12% ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี และการท่าเรือฯ จะบริหารโครงการเองอีกด้วย”
เตรียมผุด Bangkok Port Distribution,ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์
ส่วนโครงการนอกจากนี้นั้น ผอ.ทกท.เปิดเผยว่าโครงการอื่นที่ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมอยู่นั้น เป็นโครงการก่อสร้างอาคารทรงสูงเพื่อเป็นจุดรวมและกระจายสินค้า (Bangkok Port Distribution) เพื่อลดลงการใช้พื้นที่ของกิจกรรมต่างๆลงจาก 930 ไร่ เหลือ 533 ไร่ ได้แก่ ตู้สินค้าขาเข้าทั้งหมด, เขตปลอดอากร (Free Zone), สินค้าผ่านแดน, คลังสินค้าตกค้าง, คลังสินค้ารถยนต์, จุดบริการเบ็ดเสร็จ(One Stop Service), จุดจอดและจัดระเบียบรถบรรทุกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร
“การศึกษาและออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนไม่ถึง 10,000 ล้านบาท จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี 2563-2564 โดยท่าเรือกรุงเทพจะทยอยคืนพื้นที่ที่เหลือจากการพัฒนาประมาณ 397 ไร่ เพื่อให้นำไปบริหารสินทรัพย์และหารายได้เพิ่มเติมภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ท่าเรือกรุงเทพ จะศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ฝั่งเขื่อนตะวันตก เพราะการขนส่งสินค้าทั่วไปจะลดลงเรื่อยๆ และการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ฝั่งเขื่อนตะวันออกค่อนข้างแออัด ทำให้บางครั้งเรือต้องลอยลำรอ 1-2 วัน หากพัฒนาฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือขนส่งคอนเทนเนอร์ ก็จะทำให้ระยะเวลาการรอลดลง คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในเฟสถัดไปในปี 2564-2565” นายโกมล สรุปปิดท้าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาศักยภาพของระบบขนส่งทางน้ำเชื่อมการขนส่งทั้งในและต่างประเทศมีความจำเป็นเร่งด่วน และการพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้านับเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำโดยรวม ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการขนส่งอื่นๆ เพื่อรองรับปริมาณของการเข้าออกของสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เป็นท่าเรือเก่าแก่…แต่รับภาระหนักกับปริมาณสินค้าและตู้สินค้าที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่ทกท.เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือ คลังสินค้า และห่วงโซ่อื่นๆ
….สะท้อนถึงวิทัศน์กับการพัฒนาองค์กรเพื่อเปิดประตูสู่การค้าโลกได้เป็นอย่างดี!