กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวง(ทล.)จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อนประกาศชวนเอกชนร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี โดยจะประกาศชวนเอกชนร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ.นี้
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็ํนประธานการสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ว่าการสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ปลอดภัย มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมการขยายตัวด้านโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีงานระบบที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง สถาบันการเงิน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดการดำเนินงาน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ก่อนออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้บรรจุโครงการดังกล่าวในแผนปฏิบัติการลงทุนด้วยคมนาคม (Action Plan) ตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโยธา กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 กรมทางหลวงจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาด้วยรูปแบบ PPP Gross Cost ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 โดยแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เอกชนเป็นผู้ออกแบบ และลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนก่อสร้าง
ระยะที่ 2 ภาครัฐจะมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งงานโยธาในส่วนที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้บริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด ระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยเงินรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ ส่วนผลตอบแทนที่เอกชนจะได้รับเป็นค่าลงทุนก่อสร้างงานระบบและค่าจ้างการดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยกรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561