กพร. จัดกิจกรรม CSR-DPIM ภายใต้โครงการ “เหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน” ใส่ใจดูแลสุขภาพพี่น้อง ปชช.

0
575

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนการทำเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผนึกกับทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากล เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเรียกว่า โครงการ CSR-DPIM ภายใต้โครงการ “เหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน” โดยเริ่มพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ ณ โรงเรียนบ้านคุ้งเขาเขียว ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ท่ามกลางประชาชนที่ให้การตอบรับอย่างหนาแน่น

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแร่นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ในฐานะอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ หากแต่การประกอบกิจการเหมืองแร่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่และสิ่งแวดล้อม กพร. จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องกำกับดูแลให้สถานประกอบการเหมืองแร่ปฏิบัติตามมาตรการ หรือเงื่อนไขการอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้องและเคร่งครัด

“กพร. เดินหน้าขับเคลื่อนการทำเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือสร้างเครือข่ายให้แข็งแรง ภายใต้กรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดและกฎหมายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน อีกทั้งยังมีมาตรการในการกำกับดูแลและกำหนดให้ขั้นตอนการทำเหมืองแร่ต้องจัดทำแผนการฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมว่า  เมื่อเหมืองปิดตัวลงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย แต่สามารถพัฒนาพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนได้ อาทิ พื้นที่สวนสาธารณะ แหล่งเก็บกักน้ำ เป็นต้น”

ด้วยเหตุนี้ กพร. ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยได้จัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศภายใต้โครงการ “เหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน” และได้มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ โรงเรียนบ้านคุ้งเขาเขียว ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีการบริการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดสายตาจากแพทย์ของโรงพยาบาล เอ็กซเรย์ปอด ตัดผม แจกข้าวสารและของรางวัลให้กับประชาชนที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

นอกจากนี้ กพร. ยังชูต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ที่ได้ผ่านการทำเหมืองแร่แล้ว ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น บริเวณทะเลสาบบ้านหมอ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคที่ดินให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองขีดขิน เข้ามาบริหารจัดการดูแล ซึ่งมีการปรับปรุงบ่อดินเป็นแหล่งเก็บน้ำ มีขนาดรวม 3,122 ไร่ และพื้นที่ในการปลูกป่า มีการจัดทำศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร ที่เอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิง สร้างพลังงานทดแทนสามารถผลิตพลังงานจากขยะเฉลี่ย 20 ตันใน 6 วันทำการ รวมทั้งยังมีการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน เช่น หอดูดาวหรือท้องฟ้าจำลอง เป็นพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และรวมถึงการใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและสันทนาการอีกด้วย อีกทั้งยังมีพื้นที่ตัวอย่างอีกหนึ่งแห่ง คือ เหมืองหินของบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ที่มีพื้นที่ราว 300 ไร่ โดยในส่วนของบ่อเหมืองที่มีการขุดลึกลงไปแล้ว 27 เมตร และมีการฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไป ซึ่งหลังจากหยุดดำเนินการสามารถใช้พื้นที่เป็นแหล่งสำรองน้ำ และกักเก็บน้ำให้ชุมชน ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวนับเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กพร. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากล เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเรียกว่า โครงการ CSR-DPIM และโครงการเหมืองแร่สีเขียวขึ้นเพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้สถานประกอบการเหมืองแร่สามารถประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์จากภาคสังคม นับเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมฯ ที่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (กฎหมายแร่ฉบับใหม่) ด้วย