เอสซีจี โชว์ผลประกอบการปี 60 เป็นที่น่าพอใจ ผลจากการเร่งปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลาดและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงขยายสู่ธุรกิจบริการ เผยปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน เงินบาทแข็งค่า และการแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรง ชูกลยุทธ์ความร่วมมือกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ เตรียมพัฒนาทักษะพนักงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง เดินหน้าธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ ขณะที่การลงทุนอาเซียนคืบหน้าตามแผน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของ เอสซีจี ประจำปี 2560 มีรายได้จากการขาย 450,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 55,041 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อน จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 113,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน มีกำไร 12,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน
“ผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในปี 2560ในปี 2560 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับ 106,597 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 80,084 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 จากยอดขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีมูลค่า 573,412 ล้านบาท โดยร้อยละ 24 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน”
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2560 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 206,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 42,007 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 51,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 9,620 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 175,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อน จากการขยายตัวของการดำเนินงานในภูมิภาคอาเซียน มีกำไรสำหรับปี 7,230 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากปีก่อนตามสภาพตลาดในประเทศไทยที่ยังคงซบเซาและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 43,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,231 ล้านบาท
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 81,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และมีกำไรสำหรับปี 4,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการขายสินทรัพย์ในบริษัทกระดาษสหไทย ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มีรายได้จากการขาย 21,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายและราคาที่เพิ่มขึ้นในสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังการผลิตใหม่ในประเทศเวียดนาม มีกำไรสำหรับงวด 1,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่าผลประกอบการในปี 2560 เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องสภาพการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในไทยและในภูมิภาค ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าที่เข้ามากระทบ แต่ด้วยราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการเร่งปรับตัวให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และการขยายสู่ธุรกิจบริการและ Solutions อาทิ โลจิสติกส์ ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทันเวลา ทำให้เอสซีจีสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังจากต้นทุนวัตถุดิบปิโตรเคมีและแพคเกจจิ้งที่เพิ่มขึ้น ราคาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ตลอดจนสภาพการแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรง โดยเฉพาะซีเมนต์ เอสซีจีจึงเร่งเตรียมความพร้อมในหลายด้าน อาทิ การขยายธุรกิจบริการและ Solutions อย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยี Automation และ Robotics เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมกันนี้จะจัดตั้ง Reskill Training Program เพื่อพัฒนาทักษะพนักงาน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ใหม่เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ”
ด้านธุรกิจบริการ เอสซีจีมีความพร้อมที่จะขยายไปสู่การบริการรถนักเรียนและรถพยาบาล โดยนำเทคโนโลยี GPS มาต่อยอดเป็น Solutions ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในด้านการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน รวมถึงระบบ GPS เพื่อติดตามรถพยาบาลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยระหว่างการเดินทาง นอกจากนี้ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ยังได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดียิ่งด้วยบริการจัดส่งพัสดุด่วนที่ทันสมัย และเป็นรายเดียวในตลาดในขณะนี้ที่มีนวัตกรรมบริการส่งพัสดุด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยที่ผ่านมาได้ขยายจุดบริการแล้วกว่า 500 สาขา และจะขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2561
อีกทั้ง เอสซีจีได้เข้าไปลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการรถขนส่งตามมาตรฐานชั้นนำของเอสซีจี โลจิสติกส์ ที่พร้อมให้บริการกว่า 7,000 คันทั่วอาเซียน ผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ความร่วมมือกับดิจิทัลสตาร์ทอัพมีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน โดยมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วกว่า 40 โครงการ ซึ่งล้วนมีศักยภาพที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายสตาร์ทอัพ ในประเทศสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และจีน
สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในอาเซียน มีความคืบหน้าตามแผน สามารถรองรับความต้องการของตลาดในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเอสซีจีมีโรงงานปูนซีเมนต์ใน 6 ประเทศหลัก มีกำลังการผลิตรวมกับในประเทศไทย 33.6 ล้านตันต่อปี