ชี้ส่งออกปี 61 ชะลอตัว คาดโต 6.3 % ฝากการบ้าน 2 ข้อ ดูแลค่าเงิน-สินค้าเกษตร

0
110

“การส่งออก”  ได้ชื่อว่าเป็น “พระเอก”  เพราะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือนที่สำคัญของการขับเครื่องเศรษฐกิจของประเทศ   ยิ่งในยุด 4.0   การส่งออกจำเป็นต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ   เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  ขณะที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจมองชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา  รัฐบาลมองว่า  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะขยายตัวที่ 3.8%  และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ประกาศชัดว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดของรัฐบาล

หากแต่ทิศทางเศรษฐกิจผ่านการส่งออกที่กำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ล่าสุด แตะระดับ  32 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ  ดังนั้น  ในปี 2561 หรือปีจอ แนวโน้มการส่งออกจะเป็นอย่างไรบ้าง

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2561 ยังมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  เมื่อปีที่แล้วส่งออกขยายตัว 10.3%  ส่วนปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 6.3%  เปรียบเทียบมูลค่าส่งออกพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวชะลอตัวลดลงจากปีที่แล้ว  และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3   การส่งออกขณะนี้ประสบปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า   ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม บริหารจัดการกันต่อไป  ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ค่าเงินบาทแข็งทำให้การส่งออกลดลง เป็นตรงกันข้าม แม้ค่าเงินบาทแข็งเรายังส่งออกได้อยู่  แต่ค่าเงินบาทก็มีผลต่อการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทมีผลหรือไม่จะต้องเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอาเซียน  เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 10.3%  ซึ่งความจริงส่งออกจะต้องขยายตัวอยู่ที่ 12.8% เหตุที่ตัวเลขหายไป 2.5% หรือประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท  เพราะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับประเทศอาเซียนแล้วแข็งกว่าประมาณ 6%  ดังนั้น หมายความว่าค่าเงินประเทศอาเซียนอ่อนกว่าไทย

“ นับจากนี้ต่อไปไทยจะต้องมอนิเตอร์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต้องสอดคล้องกับภูมิภาค   ปีที่แล้วส่งออกของประเทศสิงค์โปร มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์ เวียดนาม  มูลค่าส่งออกขยายตัวประมาณ 14-15%  แสดงให้ว่าค่าเงินอ่อนค่ากว่าไทยเรา”

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวอีกว่า   ในปี 2561 นี้และปีต่อๆไป  เราน่าจะพูดถึงมาตรฐานสินค้าเกษตรส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ จากสินค้าเกษตรเป็นเกษตรแปรรูปวัตถุต้องมีมาตรฐาน หรือมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดีคือ GAP (แนวทางปฏิบัติเกษตรที่ดี)  หากดูประเทศเมียนมาร์กลายเป็นประเทศที่มีความสามารถทำสินค้าเกษตรได้มาตรฐานสู่ระดับ Organic  แต่เรายังอยู่ระดับ GAP ทั้งหมดอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อผลักดันมูลค่าการส่งออกของไทยหลังจากนี้ต่อไป