ขบ.เปิดตัวเส้นทางนำร่องด้วยรถโดยสารมาตรฐานใหม่ 2 เส้นทาง ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงการให้บริการ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ เชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ลดปัญหาการจราจร ตอบสนองการใช้บริการของทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)เปิดเผยว่า ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถรายเดียว ทำให้ ขสมก. มีสถานะเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ส่วนรถร่วม ขสมก. เดิม จะต้องขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง จะทำให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาเชิงคุณภาพ เพิ่มทางเลือกและการเข้าถึงการให้บริการ ด้วยการกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น ลดการทับซ้อนเส้นทาง โดยทำหน้าที่เป็น Feeder รองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าในปัจจุบันและโครงการที่จะเกิดในอนาคตตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง (Connectivity) ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ภายใต้การยกระดับมาตรฐานการคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถด้วยรูปแบบการแข่งขันเชิงคุณภาพ ทั้งการกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นนิติบุคคล มีความพร้อมความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการการเดินรถ มาตรฐานคุณภาพตัวรถแบบใหม่ พร้อมมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบตั๋วร่วม (e-Ticket System) ควบคุมการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking จอแสดงความเร็ว Speed Monitor ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV โดยในอนาคตเตรียมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาทิ เสียงประกาศ แผนที่การเดินทางป้ายดิจิทัลแสดงชื่อจุดจอดเมื่อถึงแต่ละจุดจอด เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 กรมการขนส่งทางบกได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมยื่นคำขอประกอบการในเส้นทางนำร่อง 2 เส้นทาง ซึ่งกำหนดขึ้นใหม่ตามแผนปฏิรูปฯ คือ เส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) และได้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเชิงคุณภาพที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
สำหรับเส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) มีบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้บริการในเส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เคหะบางพลีเมืองใหม่ เมกาบางนา ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ แอร์พอร์ตเรลลิงค์หัวหมาก พระราม 9 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมระยะทาง 61 กิโลเมตร ใช้รถโดยสารปรับอากาศขนาด 31 ที่นั่ง และมีที่ยืนสำหรับผู้โดยสาร โดยมีจำนวนรถทั้งหมด 16 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยวต่อวัน อัตราค่าโดยสารเป็นไปตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 13-25 บาท ซึ่งจะเปิดให้บริการฟรี 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-20 มกราคม 2561 และพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบต่อเนื่องต่อไป ส่วนเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) มีบริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเดินรถ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งจะใช้รถโดยสารปรับอากาศมาตรฐาน 2 (ค) มีที่นั่งผู้โดยสาร 21-30 ที่นั่ง และไม่มีที่ยืน โดยมีจำนวนรถทั้งหมด 18 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยว วิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสาร 40 บาทตลอดสาย โดยจะให้บริการในเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (บรมราชชนนี) ถนนราชพฤกษ์ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมให้บริการฟรีใน 5 วันแรกเช่นเดียวกัน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ รถโดยสารประจำทางเส้นทางนำร่องทั้ง 2 เส้นทาง นอกจากจะสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจากรอบนอกเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพชั้นในแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ทำให้เกิดโครงข่ายการเดินทางที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง ตอบโจทย์การเดินทางของผู้โดยสารได้อย่างลงตัว สะดวกสบาย และมีมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้การควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากกรมการขนส่งทางบก ติดตามการเดินรถและพฤติกรรมพนักงานขับรถผ่านระบบ GPS Tracking ลักษณะ On-line แบบ Realtime และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน มีระบบติดตามและประเมินคุณภาพของผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้ประกอบการ เช่น การให้สิทธิพิเศษกรณีผู้ประกอบการรักษามาตรฐาน หรือมีการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง หรือพิจารณาบทลงโทษกรณีกระทำความผิดประกอบการพิจารณาการต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที เพื่อการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความปลอดภัย จูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะด้วยคุณภาพการให้บริการอย่างมืออาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด หลังจากเปิดให้บริการแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางนำร่องดังกล่าวทางแฟนเพจ Facebook “การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม.” หรือ URL:http://www.facebook.com/BusRerouteBKK/ เพื่อนำข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำมาประเมินและปรับปรุงการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการต่อไป