“ไพรินทร์”เด้งแผนฟื้นฟู “รถไฟ-รถเมล์-บินไทย” ก่อนเสนอ คนร.19 มกรานี้ เน้นย้ำปรับต้นทุนค่าโดยสารที่แท้จริง พร้อมไฟเขียวขึ้นค่าโดยสารรถไฟ-รถเมล์ ส่วนบินไทยจ่อปรับลดขนาดองค์กรเทียบชั้นโลว์คอสต์แต่คุณภาพราคาระดับพรีเมี่ยม
นายไพริทร์ โชติชูถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่าได้เรียกผู้บริหารองค์การขนส่งมวลชกรุงเทพ(ขสมก.),การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.),บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เข้ามาหารือถึงการดำเนินการแผนฟื้นฟูปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งจากการพิจารณาแผนฟื้นฟูที่แต่ละองค์กรจะดำเนินการแล้วพบว่า การปรับโครงสร้างองค์กรยังไม่สอดคล้องกับแผนฟื้นฟู จึงได้ให้นโยบายทั้ง 3 องค์กร ไปจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรใหม่ แบบศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกด้าน และเสนอกลับมายังตนพิจารณาก่อนจะมีการเสนอไปยังคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือคนร.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 19 ม.ค.2561 นี้
“จากที่พิจารณาแผนฟื้นฟูของแต่ละหน่วยงานเห็นว่า ไม่น่าจะเรียกว่าแผนฟื้นฟู เพราะแผนฟื้นฟูจะมีทั้งลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ มีทิศทางเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะปรับองค์กรไปทางไหนบ้าง แต่ที่ทำเสนอมามีแค่การลดรายจ่าย ไม่มีเป้าหมาย ในขณะเดียวกันในฐานะผู้กำกับหน่วยงานและได้รับมอบหมายให้มาดูแผนฟื้นฟู ทั้งการบินไทย รถไฟและ ขสมก.นั้นมองว่าการเข้ามาดูแลจะไม่ใช่แค่ตำหนิ แต่หากหน่วยไหนต้องมีการลงทุน ปรับแก้ไขอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ในฐานะผู้กำกับต้องสนับสนุน”
จ่อปรับเพิ่มค่าโดยสารรถเมล์-รถไฟ
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ รฟท. และ ขสมก. นั้น มีโจทย์เรื่องค่าโดยสารที่ต้องทำให้ยุติธรรม เพราะปัจจุบันรถเมล์ ขสมก. เก็บค่าโดยสารที่ 6.50 บาท ขณะที่รถเมล์เอกชนร่วมบริการ เก็บค่าโดยสาร 9 บาท ด้านรถไฟเก็บค่าโดยสารสถานีละ 2 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสถานีแรก 15 บาท ดังนั้นจึงมอบให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปศึกษาว่าค่าโดยสารที่ยุติธรรมควรอยู่ที่ราคาเท่าใด โดยให้บรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูด้วย แต่รัฐจะให้ปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ ก็แล้วแต่รัฐบาล ทั้งนี้ต้องเห็นใจว่าทั้งรถไฟ และรถเมล์ ไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมาเป็นเวลา 20-30 ปีแล้ว และแม้ว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารอาจจะมีเสียงต่อต้านจากประชาชน ก็ต้องพยายามอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ และเห็นภาพ เช่น ผู้โดยสารจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์วิน อย่างน้อยเริ่มต้น 10 บาท แต่มีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย ขณะที่นั่งรถเมล์ราคาไม่ถึง 10 บาท แต่สะดวกและมีความปลอดภัยมากกว่า เป็นต้น
สั่งปรับลดขนาดบินไทยไล่บี้โลว์คอสต์ แอร์
สำหรับการบินไทยนั้น ได้เสนอแนะให้ปรับแผนธุรกิจบางอย่างของการบินไทยให้ใกล้เคียงกับแผนธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำ(โลวคอสต์) โดยเฉพาะการจัดหาเครื่องบินอาจต้องลดความหลากหลายของประเภทเครื่องบินลง เช่น การบินไทยมี 8 แบบ ขณะที่โลวคอสต์มี 1 แบบเท่านั้น นอกจากนี้ควรมีทรัพย์สินให้น้อยลง เน้นเช่ามากกว่าซื้อ เพราะไม่อยากให้เสียเงินกับการซื้อทรัพย์สินที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ และต้องมาจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้การบินไทยก็เริ่มขายทรัพย์สินบางส่วนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามการปรับแผนธุรกิจบางส่วนให้ใกล้เคียงกับโลวคอสต์ได้มากเท่าใดนั้น จะทำให้การบินไทยอยู่รอดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ความเป็นพรีเมี่ยมของการบินไทยก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมด้วยคุณภาพการบริการ
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ได้มารายงานแผนฟื้นฟูการบินไทยให้ รมช.ไพรินทร์ รับทราบว่ามีการดำเนินการอย่างไรไปบ้าง โดยรัฐมนตรีได้ให้การบินไทยไปปรับแผนฟื้นฟูการบินไทยใหม่ และให้กลับมาเสนอก่อนที่จะประชุม คนร.ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการบินไทยได้มีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู และในปี 61นี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีกำไร
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ รฟท.จะรายงานแผนฟื้นฟูรถไฟ ที่ได้มีการปรับแก้ไขเพื่อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณารายละเอียด ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร.ในวันที่ 19 ม.ค. โดยแผนฟื้นฟูที่มีการปรับแก้ไขฉบับใหม่ จะทำให้เห็นภาพรวมของการปรับโครงสร้างองค์กรว่าจะมีการสร้างสร้างรายได้ที่แท้จริงอย่างไร ทั้งเรื่องอัตราค่าโดยสาร ผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ที่สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการ ,ค่าใช้จ่ายที่จะต้องปรับลดอย่างไร รวมถึงการบริหารทรัพย์สินอย่างไรให้มีความยั่งยืน ส่วนเรื่องลงทุนนอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคู่ แล้ว ในแผนฟื้นฟูที่แก่ไขจะมีในส่วนของการจัดซื้อจัดหา เพิ่มหัวรถจักร ขบวนรถ เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่จะมีขึ้นด้วย