ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เตรียมเปิด “ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G” ยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศกับท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)และเชื่อมโยงท่าเรือในลุ่มนำเจ้าพระยา ท่าเรือชายฝั่งภายในและต่างประเทศ รองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู./ปี คาดเปิดให้บริการภายในเดือนมีนาคมนี้
นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ (อ.ทกท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เตรียมเปิดการให้บริการ “ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G” ยกระดับการให้บริการในการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าภายในประเทศ (Ship Mode) กับท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และเชื่อมโยงกับท่าเรือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศและต่างประเทศ ลดปัญหาจราจร และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 นี้
“โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ทกท. ได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ Terminal 2 บริเวณเขื่อนตะวันออก (ปากคลองพระโขนง) โดยได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าท่า ความยาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน รองรับเรือชายฝั่งพร้อมกันได้ 2 ลำ เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลารอคอยท่า มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าติดท่าเทียบเรือ รองรับการขนส่งด้วยเรือ Barge ที่มีความปลอดภัย และขนส่งได้ในปริมาณมาก ไม่ต่ำกว่า 60 ที.อี.ยู./เที่ยว และเป็นช่องทางการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ทกท. ยังมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีความสะดวก และช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า สามารถตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร (0309) ณ ทกท. ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ มีโรงพักสินค้าและสถานที่บรรจุสินค้าอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการนำกล้อง CCTV บันทึกภาพขณะขนถ่าย และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ นายโกมล ระบุอีกว่าโครงการฯ ดังกล่าวใช้งบประมาณ 452 ล้านบาท โดยมีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู./ปี เป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางบก มาเป็นการขนส่งทางน้ำ และยกระดับการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าภายในประเทศ (Ship Mode) กับท่าเรือชายฝั่งแหลมฉบัง (A0) โดยสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือภายในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศ และเชื่อมโยงกับท่าเรือต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการให้บริการขนส่งสินค้า ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานเนื่องจากความแออัดของจำนวนตู้สินค้าและการจราจรในภาพรวม