ครม.ผ่านฉลุยประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง 9 สัญญา มูลค่า9.8หมื่นล้านบาท เซ็นสัญญา28 ธ.คนี้ มั่นใจเดินหน้าสร้างอีก 9 เส้นทางภายในปี 61 พร้อมอนุมัติไฮสปีดเทรนไทย-จีน ชักธงตอกเสาเข็ม 21 ธ.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีั (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.มีมติอนุมัติผลการประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รวม 9 สัญญา จากทั้งหมด 13 สัญญา คือ 1.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 4.ช่วงนครปฐม-หัวหิน และ 5.ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ ขณะเดียวกันก็เห็นชอบวงเงินการดำเนินโครงการทั้ง 5 เส้นทางที่ 98,984 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 101,748 ล้านบาท หรือลดลง 2,764 ล้านบาท
“เดิมทั้ง 5 เส้นทางกำหนดเปิดประกวดราคาไว้ 5 สัญญา แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนใหม่เป็น 13 สัญญา ทำให้สามารถปรับลดราคาลงมาได้ จากนี้ไป รฟท.จะลงนามในสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาและเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยทำให้โครงข่ายรถไฟสมบูรณ์มากขึ้น ถือเป็นของขวัญปีใหม่ด้วย นอกจากนี้แล้วในปี61 จะมีการประกวดราคาอีก 9 เส้นทางคาดจะทยอยนำเสนอ ครม.อนุมัติได้ประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค.61”
นายอาคม กล่าวอีกว่าที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นคราชสีมา ระยะทาง 253 กม.ขณะเดียวกันได้เห็นชอบให้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 ช่วงแก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม. โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างตอนที่ 1 ก่อนในวันที่ 21 ธ.ค.นี้
“ครม.ยังเห็นชอบให้กรมทางหลวง(ทล.)เป็นผู้ก่อสร้างตอนที่ 1 วงเงิน 425 ล้านบาทตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เนื่องจากช่วงดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างที่ไม่แตกต่างจากการก่อสร้างทางหลวงที่กรมทางหลวงมีความชำนาญอยู่แล้ว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะมีการลงนามในสัญญากับกรมทางหลวงเพื่อให้เข้าไปดำเนินการในวันที่ 20 ธ.ค.60 นี้้”
อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการในตอนที่ 1 แล้ว จะดำเนินการในตอนอื่นๆตามแผนงานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ส่วนการดำเนินงานในระยะที่ 2 จากนครราชสีมา-หนองคาย จะดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ด้วยเช่นเดียวกัน โดยในระยะที่ 2 ทางไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง จะใช้ผลการศึกษาและแบบการก่อสร้างที่ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการนำเสนอ ครม.อนุมัติ ซึ่งการก่อสร้างในระยะที่ 2 ถือว่าไม่มีอะไรยุ่งยากเหมือนระยะที่ 1 เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กล่าวว่าวันที่ 28 ธ.ค.นี้ รฟท.จะลงนามในสัญญากับบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทั้ง 5 เส้นทาง จากนั้นจะเริ่มลงมือก่อสร้าง โดยเส้นทางที่ใช้เวลาก่อสร้างมากสุดอยู่ที่ 48 เดือน ส่วนน้อยสุด 30 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ส่วนอีก 9 เส้นทางจะมีการแบ่งสัญญาการประกวดราคาเหมือน 5 เส้นทางหรือไม่ ต้องรอนโยบายจากทางคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง(ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง)ก่อน