อธิการบดี สจล.ชี้พัฒนาขนส่งทางราง เกาให้ถูกที่คัน!

0
358

หากจะกล่าวถึงระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา โดยหยิบยกเอาเรื่องของการคมนาคมขนส่ง เข้ามาเป็นประเด็นใหญ่ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยตั้งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้กรอบ S-Curve หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งต้นทุนของการผลิต การบริการ ความสะดวกในการคมนาคมที่เป็นความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่เป็นเครื่องชี้วัดความสามารถของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมว่าจะสามารถพัฒนาระบบการขนส่งให้เดินหน้าไปได้มากน้อยเพียงใด…

suchatvee1
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงระบบการคมนาคมขนส่ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายถึงโครงข่ายระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยในปัจจุบัน ให้ทีมงาน Logistics time ฟังว่า  ระบบการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งในระบบราง ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารูปแบบการขนส่งประเภทนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ถูกจัดอับดับให้ครองแชมป์อันดับ 1 เมืองที่การจราจรติดขัดมากที่สุดของโลก ในช่วงเวลาเร่งด่วนหลังเลิกงานไปแล้วในขณะนี้ ยิ่งทำให้ความต้องการการขนส่งทางรางมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากที่สุด ที่จะต้องมีการพัฒนา เพราะไม่เช่นนั้น กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการเดินทางขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในความคิดโดยส่วนตัวจึงมองว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่จะต้องโฟกัสก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาก็คือพื้นที่ในส่วนของชานเมืองและต่างจังหวัด เพราะต้องยอมรับว่าการเดินทางระหว่างจังหวัด ระบบการขนส่งทางถนนของเรามีการจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถทัวร์โดยสาร หรือสายการบินโลว์คอส ยังสามารถตอบโจทย์การเดินทางของภาคประชาชนได้ดีอยู่

“อีกประการที่สำคัญ ในส่วนของโครงการที่รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างระบบการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟทางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูง ประเด็นนี้ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร ถึงแม้จะเคยมีคนทำเรื่องนี้มาบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งตรงนี้เราต้องดูว่าเราจะวัดความเหมาะสมในการสร้างระบบการขนส่งดังกล่าวจากอะไร ซึ่งในบางประเทศอาจจะวัดความเหมาะสมจากความจำเป็นที่ต้องใช้ หรือบางประเทศอาจจะวัดความเหมาะสมจากการที่มีเงินอยู่แล้ว แต่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องถามกลับไปว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีความต้องการตรงนั้นหรือยัง ประการแรกเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้รูปแบบการขนส่งทางราง เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านโลจิสติกส์ลงได้ ซึ่งถามว่าในเมื่อมันมีแล้ว มันมีมากพอที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ โดยในส่วนนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันรูปแบบของการเดินทางของประชากรภายในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางโดยทางถนน และการเดินทางโดนสายการบิน ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาดูแล้วว่าผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวมันมีมากน้อยเพียงใด

ประการต่อมา กำลังทรัพย์ของประเทศมีมากเพียงพอกับการลงทุนหรือไม่ ในส่วนนี้ต้องบอกว่าประเทศไทยมีเงินฝากอยู่ในระบบภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากอยู่พอสมควร ดังนั้นเม็ดเงินที่อยู่ในส่วนนี้ก็ควรจะนำออกมาใช้ในการพัฒนาระบบการขนส่ง โดยอาจจะดำเนินการในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประการที่สาม มีบุคลากรหรือไม่ ตรงนี้สามารถพูดได้อย่างชัดเจนเลยว่าประเทศไทยยังไม่มี โดยเฉพาะวิศวกรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ดังนั้นแม้ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการและมีเงินที่จะสามารถนำมาลงทุนก่อสร้างได้ แต่หากขาดบุคลากร หากดำเนินการไปแล้วความยั่งยืนมันก็อาจจะเป็นปัญหาที่ตามมาได้ในที่สุด”

อย่ามองจุดคุ้มทุน ให้มองไปที่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

BTS at Nana

ศ.ดร.สุชัชวีร์ อธิบายต่อไปอีกว่า เมื่อถามถึงความคุ้มทุนในการก่อสร้างระบบรถไฟไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่หรือรถไฟความเร็วสูง ก็คงต้องมองย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่เริ่มมีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งก็มีหลายคนเคยกล่าวว่า ไม่มีคนนั่ง แต่มาถึงตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะต้องผลักกันเข้าไปในขบวน ซึ่งการใช้บริการของคนมันย่อมจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคำว่าคุ้มทุนมันยากที่จะพูด เพราะอะไรที่เป็นเรื่องการเดินทางสาธารณะ ถ้ามองผลตอบแทนหรือผลกำไรที่เป็นตัวเงิน มันไม่สามารถวัดออกมาได้ ซึ่งหากมองแต่กำไรเพียงอย่างเดียวก็คงไม่มีโอกาสได้สร้างอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันให้มองไปที่เรื่องของคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมันย่อมที่จะดีขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นหากถามว่าสุดท้ายแล้วการขนส่งทางรางยังต้องทำอยู่อีกหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำ แม้จะต้องกู้เงินมาก่อสร้างก็ยังคงต้องทำ เพราะสุดท้ายแล้วรุ่นลูกหลานเราก็ได้ประโยชน์จากการก่อสร้างตรงนี้ด้วยนั่นเอง

“ในส่วนของ รถไฟความเร็วสูง ที่หลายคนยังสงสัยกันอยู่ว่า เมื่อสร้างแล้วมันคุ้มค่ากับการก่อสร้างหรือไม่ แล้วจะมีคนมาใช้บริการมากน้อยเพียงใด ซึ่งถามว่า รถไฟความเร็วสูงที่วิ่ง 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันดีกว่าสายการบินโลว์คอส หรือรถทัวร์แบบ VIP ตรงไหน ความจำเป็นมีมากพอที่เราจะต้องลงทุนสร้างหรือไม่ ตรงนี้เป็นคำถามที่ถามมาโดยตลอดว่า การตัดสินใจทำรถไฟความเร็วสูงมันเกาถูกที่คันแล้วหรือไม่ ความต้องการของประเทศไทยมันไปถึงจุดนั้นแล้วหรือไม่ แต่ในทางกลับกันถ้ามีคนให้เงินแล้วทำโดยที่ไม่มีอะไรทำให้เรารู้สึกลำบากใจ หรือเป็นภาระในระยะยาวจนเกินไป ตรงนี้มองว่าก็ทำไปเถอะ แต่แน่นอนคนที่จะเข้ามาลงทุนมันไม่มีของฟรีอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลรวมไปถึงกระทรวงคมนาคมควรจะต้องพิจารณาถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นในมุมมองของผม ผมจะเร่งทำเครือข่ายรถไฟให้มันครอบคลุมกว่าที่เป็นอยู่ เช่น รางเดี่ยวก็ทำให้มันเชื่อมต่อไปเรื่อยๆ หรืออาจจะปรับเปลี่ยนมาเป็นรางคู่ด้วยก็ได้ ให้มีการเชื่อมโยงของการเดินทางไปในทุกพื้นที่ แต่หากเราได้การร่วมลงทุนที่ดีในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เป็นทางเลือกที่น่าตัดสินใจทำ ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงของไทยจะเกิดขึ้นได้นั้น เราจะต้องมีผู้ร่วมลงทุนที่ดี นอกนั้นก็ยังไม่เห็นสาเหตุอื่นที่มันน่าสนใจแต่อย่างไร”

ชี้ ! ขนส่งทางรางต้องเชื่อมโยงให้ทั่วถึง

อธิการบดี สจล. กล่าวปิดท้ายว่า “สำหรับระบบรางของไทยในอนาคต จะต้องเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครจะต้องเต็มไปด้วยระบบการขนส่งทางรางที่มีระยะไม่ต่ำกว่า 300-500 กิโลเมตร โดยในเมืองก็ทำให้เป็นรถไฟใต้ดิน พอออกนอกเมืองก็เป็นรถไฟลอยฟ้า เพราะต่อไปในอนาคตอีก 10-20 ปี กรุงเทพมหานครจะต้องมีขนาดที่ใหญ่เพิ่มขึ้น อีกประการคือ รูปแบบของระบบโลจิสติกส์ นั่นก็คือ ผู้ที่มีรายได้น้อยจะสามารถเดินทางได้ในราคาที่ถูก เพราะฉะนั้นการทำรถไฟรางเดี่ยวและรางคู่จึงดูสมเหตุสมผลมากที่สุด โดยทำให้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์จากการเดินทางด้วยระบบรางได้

สำหรับรถไฟความเร็วสูง ในอนาคตมองว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องหาผู้ร่วมลงทุนที่ดี รวมไปถึงมีการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางทั้งในเมืองและนอกเมืองควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญรัฐจะต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพราะรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว ซึ่งตรงนี้เอกชนที่มาลงทุนเขาก็ต้องได้ผลตอบแทนกลับไป แต่ในการได้ของเอกชนรัฐก็ต้องมีส่วนร่วมในการได้ผลกำไรตรงนั้นไปด้วย ตรงนี้คือระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยในอนาคตตามมุมมองของผมนั่นเอง”

b6b6b27f

แม้ปัจจุบันการดำเนินก่อสร้างโครงการต่างๆ ทางด้านระบบการขนส่งสาธารณะ จะยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากสักเท่าไหร่ แต่เชื่อเหลือเกินว่าในอีกมาช้า เราจะได้ใช้ระบบขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางราง ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน แต่จะได้ใช้งานในรูปแบบไหนก่อนกัน คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า เราๆ ท่านๆ จะมีโอกาสได้นั่งรถไฟความเร็วสูง ดั่งที่มีการนำเสนอหรือไม่ หรือจะได้นั่งเพียงแค่รถไฟในแบบที่…ถึงก็ช่าง…ไม่ถึงก็ช่าง…กันต่อไป !!