หลังรัฐบาลคสช.โดยกระทรวงคมนาคมประเดิมนโยบายต้อนรับปีใหม่ 2560 ไว้สวยหรูกับการเดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 2560 (Action Plan) รวม 36โครงการครอบคลุมทั้งระบบราง บก น้ำ และอากาศ วงเงินลงทุนกว่า 8.95 แสนล้านบาท หวังให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
ถือเป็นการจุดพลุความหวังให้ปี 2560 เป็นปีทองการลงทุนก่อสร้าง เชื่อมการเดินทางภายในกรุงเทพฯชานเมือง และหัวเมืองภูมิภาคทะลุประเทศเพื่อนบ้าน ส่งอานิสงส์ให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายหลายแสนล้านบาท ดันจีดีพีเพิ่มปีละ 1%
ตลอดระยะเวลาขวบปีแห่งการขับเคลื่อนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคม อันเป็นความหวังด้านมหกรรมการลงทุนแห่งปี แม้บางโครงการจะเริ่มเห็นเป็นรูปร่างแล้วก็ตาม แต่หลายต่อหลายโครงการกลับถูกมองว่าไม่ขยับไปไหนมาไหน บางโครงการต้องสะดุดและล่าช้าไป 6-12 เดือน หรือแม้แต่บางโครงการถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเป็นแค่ “โครงการมายา” มีแค่ชื่อในแผนแต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไร้ตัวตนของโครงการ
ในรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงออกมาล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้สศช.จะปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวถึงร้อยละ 3.8 ทำให้คาดการณ์ทั้งปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไปได้ถึงร้อยละ 3.9 เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
แต่เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดแล้วกลับพบว่าในส่วนของการลงทุนภาครัฐนั้นกลับปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 แม้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 19.6 ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากฝนตกชุกและปัญหาอุทกภัย อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้น แทบจะมาจากการส่งออก และลงทุนของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ขณะที่ความคาดหวังจากการลงทุนของภาครัฐกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย!
“สมคิด”โว Action Plan 2560 คืบหน้าอย่างมาก
แม้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีจะแสดงความพอใจภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า พอใจในผลการดำเนินงานการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ตาม Action Plan 2560 ที่คืบหน้าอย่างมาก ส่งแรงหนุนเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 ได้เกินเป้าร้อยละ 90 เร่งเบิกจ่ายในปีนี้อีก 1.16 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 61 อีก 8 แสนล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ
“โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการสำคัญที่กระทรวงฯ ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กระทรวงฯ ต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2560”
แต่กระนั้นกลับเป็นที่น่าสังเกตว่า นายสมคิด ยังได้กำชับกระทรวงฯเร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟไทย – จีน (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) โครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง เมืองหลักในภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ให้เร่งรัดการก่อสร้างภายในปี 2561 การลงนามความร่วมมือการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ต้องเกิดขึ้นได้ด้ภายในปี 2560 การบริหารจัดการท่าอากาศยานในภูมิภาค จำนวน 28 แห่ง ที่ต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน 2560
“แต่ละโครงการรองนายกฯสมคิดย้ำต้องเป็นรูปธรรมและเกิดขึ้นภายในปีนี้ เป็นการบ่งบอกถึงความไม่พอใจในผลการดำเนินการ และหลายต่อหลายโครงการไม่ขยับ จนมีข่าวลือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะถูกปรับออก แต่เอาเข้าจริงหลังการปรับ “ครม.ประยุทธ์ 5” กลับเป็นรมช.คมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ที่ถูกปรับออกไป ส่วนเก้าอี้ของรมต.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยังเหนียวแน่นได้รับการต่อวีซ่าส์ให้กุมบังเหียนกระทรวงคมนาคมต่อไป”
และหากย้อนกลับไปพิจารณาผลงานของกระทรวงคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา กลับพบว่าก่อนหน้าที่นายสมคิดจะเดินทางมาประชมเพื่อเร่งรัดและติดตามงานของกระทรวงคมนาคมนั้น กระทรวงคมนาคมเองก็มีการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในระยะเร่งด่วนหรือ Action Plan ของกระทรวงคมนาคมเองเช่นกันและมีการแถลงออกมาอย่างชัดเจนว่า โครงการลงทุนโดยส่วนใหญ่ตาม Action Plan ต้องล่าช้าออกไปจากแผนประมาณ 6-12 เดือน
รถไฟไทย-จีน ล่าช้า ‘รอลุ้นตัวโก่ง’
โดยเฉพาะในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงในโครงการความร่วมมือไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท “เมกะโปรเจ็กต์” ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้กลายเป็นโครงการล่าช้าและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
และแม้ก่อนหน้านายกฯถึงกับต้อง งัดม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560 ผ่าทางตันปัญหาและอุปสรรคการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7-8 ฉบับอาทิ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ,กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม,ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 , ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 เป็นต้น
แต่ล่าสุดกระทรวงคมนาคม ได้ออกโรงแจงถึงความคืบหน้าว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯนครราชสีมา ในเฟสที่ 1 สถานีกลางดง-สถานีปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดตอกเสาเข็มจากเดิมในเดือนพ.ย.2560 ออกไปเป็นเดือน ธ.ค.และจ่อจะต้องเลื่อนออกไปเป็นต้นปีหน้า
ส่วนการก่อสร้างเฟส 2 คือ ปากช่อง – คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร เฟสที่ 3 คือ แก่งคอย – นครราชสีมา ระยะทาง 110 กิโลเมตร และเฟสที่ 4 คือ กรุงเทพ – แก่งคอยระยะทาง110 กิโลเมตร จะก่อสร้างได้ก็ต่อเมือทางการจีนส่งแบบก่อสร้างมาไทยและสร้างได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 61
ดร.สุเมธ องกิตติคุณ ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ สะท้อนมุมมองต่อเรื่องนี้ว่ากับโครงการนี้ ฝั่งจีนยังไม่มีความพร้อมด้านรูปแบบและรายละเลียดการก่อสร้างของโครงการยังไม่แล้วเสร็จ แต่เสร็จเป็นบางส่วนเท่านั้น ทำการอนุมัติการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเส้นทางก็ไม่สามารถผ่านได้ พอไม่สามารถอนุมัติทั้งเส้นทางได้ ทำให้กระบวนการหลักๆล่าช้าไป ดังนั้น จึงมีการออกม.44 เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
“ท้ายที่สุดแล้วกลางเดือนธ.ค.นี้ จะได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มในเฟสแรก ระยะทาง 3.5 กม.ช่วงกลางดง-ปางอโศก ดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยเอาจริงกับการลงลงุทนครั้งนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้าน่าจะมีการประมูลเฟสต่อไป ซึ่งก็ต้องมาลุ้นต่อไปจะเกิดปัญหาและล้าช้าออกไปอีกหรือไม่ แต่เชื่อรัฐบาลน่าจะเดินเครื่องเต็มที่เพื่อให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2565”
เด้งผู้ว่ารฟท.ทำรถไฟทางคู่แสนล้านสะดุด!
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง วงเงิน408,616.28 ล้านบาทเป็นอีกโครงการลงทุนที่รัฐบาลเน้นย้ำความสำคัญและเร่งรัดการก่อสร้างเพื่อเป็นการเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งระบบทางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรคจนเป็นเหตุให้โครงการล่าช้าอย่างมาก
นับจากต้นปี 2561 ที่นายกฯประยุทธ์งัด ม.44 เด้งผู้ว่าฯ “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” เข้ากรุสำนักนายกฯ ด้วยสาเหตุถูกมองว่าทำงาน “ล่าช้ากว่าแผน” พ่วงด้วยปมถูกร้องเรียนถึง “ความโปร่งใส”ก่อนแต่งตั้ง “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองอธิบดีกรมทางหลวง ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่า “ขัดตาทัพ” พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นประธานทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการจัดซื้อ จัดจ้างต่างๆของการรถไฟฯ
แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้โครงการก่อสร้างของการรถไฟ ทั้งในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เดินหน้าไปตามเป้าหมาย ตรงกันข้ามหลายโครงการยังคงล่าช้าไปจากแผนอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้นายสมคิดต้องลงมาประชุมเร่งรัดงานลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมถึง 2 ครั้งในปีนี้
ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ผ่านด่านปชช.
สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการใน Action Plan 2560 โดย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง ให้ข้อมูลว่าตอนนี้ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว จากนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอ ข้อห่วงใย และคำชี้แนะไปทำการปรับแก้ร่างดังกล่าว จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.เพื่อพิจารณาความเห็นชอบ
“โชคดีโครงการนี้ถือเป็นนโยบายรัฐ และในแผนของ EECเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเร่งดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ คาดว่าคงจะสามารถเริ่มได้ในช่วงเดือนมกราคมปี 2562ในงบประมาณการก่อสร้างกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องของงบประมาณนี้อาจจะมาในรูปของการใช้เงินของการท่าเรือเอง การจำหน่ายพันธบัตรให้กู้ หรือกู้หนี้สาธารณะ โดยหากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ก็คาดว่าโครงการท่าเรือระยะที่ 3 นี้ จะแล้วเสร็จในปี2567-68”
ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังรองรับตู้สินค้าได้กว่า 10.8 ล้าน TEUต่อปี แต่ขณะนี้มีการใช้งานอยู่ที่ 7 ล้าน TEU ต่อปี แต่มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5 แสนตู้ TEU ซึ่งในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า หากการก่อสร้างระยะที่ 3 แล้วเสร็จก็จะสามารถรองรับปริมาณตู้เพิ่มเติมได้อีก 7 ล้านTEU ต่อปี
สำหรับ Logistics Time แล้วมองว่าแม้ภาพรวมการเดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 2560 (Action Plan) ที่รัฐบาลคาดหวังจะให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ
แต่หากส่องลงลึกในเนื้องานจริงๆแล้วกลับต้องผิดหวังกับการขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ ทั้งมิติขนาดของโครงการ เม็ดเงิน และความคุ้มค่า หากเปรียบเทียบกับหนังแอคชั่นฟอร์มยักษ์สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมแสดงไม่สมบทบาท และ “ไม่บู๊ล้างผลาญ…เหมือนหนังตัวอย่าง”ที่ฉายโปรโมทดึงเรทติ้งให้ประชาชนได้ตาลุกวาวไว้ก่อนหน้า
มิหนำซ้ำยังเล่นผิดคิวบู๊บาดเจ็บกันระนาว …เป็นการเล่นเอง เจ็บเอง โดยไม่ต้องใช้ตัวแสดงแทน!