กรมท่าอากาศยานคิดไม่ตกยกสนามบินให้ ทอท. ตัดใจอ้างผลศึกษาให้ได้แค่ “สนามบินอุดร-ตาก” หวังให้ ทอท.มีเส้นทางการบินครบทุกภูมิภาคพร้อมเปิดทางให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนา 4 สนามบิน เตรียมชงคมนาคมตัดสินใจ พ.ย.นี้ “ดรุณ” อ้างหนักหากไปอยู่ในมือ ทอท.ประชาชนจะเสียความรู้สึก เหตุค่าธรรมเนียมแพงกระทบค่าโดยสารพุ่ง
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “แนวทางการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัด ทย.” ว่า ทย. ร่วมกับศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาเรื่องการพัฒนาแนวทางบริหารท่าอากาศยานในสังกัด ทย. 28 แห่ง โดยผลการศึกษาเสนอให้ยกสิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานของ ทย. 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานตาก ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน เพื่อให้ ทอท. มีโครงข่ายในการพัฒนาเส้นทางการบินที่ครบทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมกันนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา และท่าอากาศยานชุมพร แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 25 ของการจัดทำพีพีพีต่อไป อย่างไรก็ตาม ทย.จะนำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พิจารณาภายในเดือน พ.ย.นี้
สำหรับสาเหตุที่เลือกสนามบินอุดรธานี และตากนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา ทอท. ดูแล 6 สนามบินหลักของประเทศ แต่ยังขาดท่าอากาศยานในพื้นที่ฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในส่วนของสนามบินอุดรธานีนั้น เป็นสนามบินดาวรุ่งของ ทย. มีกำไรประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี เป็นสนามบินที่มีศักยภาพสูง อยู่ใกล้ประเทศลาว เป็นสนามบินศุลกากรที่เปิดเส้นทางบินไปต่างประเทศได้เลย ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 2 ล้านคนต่อปี ในปี 64-65 มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.สามารถเข้ามาบริหารจัดการต่อได้เลย ส่วนสนามบินตาก ยังใช้ประโยชน์ไม่มาก ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ จึงอาจเป็นภาระกับ ทอท.เล็กน้อย แต่เชื่อว่า ทอท.สามารถพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบการดำเนินการนั้น คงต้องหารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม และมีความเป็นธรรม ส่วนผลการศึกษาของ ทอท. ที่ระบุว่าควรรับบริหารสนามบิน ทย. อย่างน้อย 15 แห่งนั้น เป็นเรื่องระดับนโยบาย
“ยอมรับว่าเรื่องนี้คิดหลายรอบมาก เพราะห่วงความรู้สึกประชาชน เพราะหาก ทอท. ได้เข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง คงต้องคุยกับ ทอท.อย่างละเอียด โดยเฉพาะการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา ทย. เก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน และค่าขึ้น-ลงของอากาศยานจากผู้ประกอบการสายการบินในอัตราที่ต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ โดยเฉพาะสายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์) มีต้นทุนที่ต่ำ ราคาบัตรโดยสารก็จะถูกลงไปด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนได้เดินทางทางอากาศมากขึ้น แต่หากทอท. เก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เท่ากับอัตราที่ ทอท.เก็บอยู่ ซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ ทย.เก็บ ก็กลัวว่าราคาบัตรโดยสารจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และผู้ใช้บริการสนามบินก็จะลดลง ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทย.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต่ำกว่าผู้ดำเนินงานท่าอากาศยานรายอื่นประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีเนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ”
นายดรุณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ทย.มีปริมาณเที่ยวบิน และผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีท่าอากาศยาน 15 แห่งที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน มี 10แห่งเสมอตัว และมี 3 แห่งที่ยังขาดทุน ได้แก่ ท่าอากาศยานปาย จ.เชียงใหม่, ท่าอากาศยานนราธิวาส และท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน แต่ภาพรวมในปี60 ทย. มีรายได้ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี มีกำไรประมาณ 800 ล้านบาท ทั้งนี้ ทย. อยู่ระหว่างการเตรียมแผนลงทุนระยะ 10 ปี วงเงินประมาณ30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนารองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้โดยสารใน 10 ปีข้างหน้า เฉลี่ยลงทุนปีละประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี 61 ทย. จะเริ่มก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการของ ทย. พื้นที่ 200-300 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณชุมชนบางปิ้ง จ.สมุทรปราการ วงเงิน 200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในสนามบินให้ได้มาตรฐาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 63
สำหรับแผนการจัดหารายได้ของ ทย. นั้น อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อนำพื้นที่ของท่าอากาศยานที่มีอยู่ทุกตารางนิ้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้จะเดินหน้าพัฒนาทุกสนามบินให้เป็นทัวร์ริสต์แอร์พอร์ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และสนองนโยบายรัฐในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย ปัจจุบันทัวร์ริสแอร์พอร์ตนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานน่าน และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีศักยภาพสูงและมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ ซึ่งจาการติดตามการดำเนินงานพบว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างดี.