คมนาคมผุดแผนขนส่งดิจิทัลตอบโจทย์การเดินทาง เล็งเพิ่มระบบตรวจจับความเร็วเอาผิดตีนผี พร้อมลุยพัฒนาระบบชำระ-ต่อภาษีทะเบียนรถผ่านระบบออนไลน์และร้านสะดวกซื้อ ด้านรถไฟฟ้า-สนามบินผุดสารพัดแผนดิจิทัล แอร์พอร์ตลิงก์ประเดิมเปิดตัวระบบบริหารข้อมูลเป็นแห่งแรกในโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนพัฒนาคมนาคมดิจิทัล ระยะ5ปี(2560-2564) โดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เรื่องความปลอดภัยกับแก้ไขปัญหาการจราจรตลอดจนความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซ็นเซอร์จับความเร็วเพื่อจับปรับผู้กระทำผิด การควบคุมความเร็ว เป็นต้น รวมถึงยังเน้นการให้บริการระบบคมนาคมผ่านการใช้บัตรใบเดียวข้ามโหมดขนส่งได้ ภายใต้บัตรแมงมุมที่จะใช้เชื่อมต่อรถไฟฟ้าต่างระบบและรถเมล์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ช่วงกลางปี61 และในอนาคตจะนำบัตรอีซี่พาสกับเอ็มพาสมาเชื่อมต่อกับบัตรแมงมุมด้วย
นอกจากนั้นในส่วนของด้านจราจรแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมจะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน โดยเฉพาะขั้นตอนการออกและต่อใบขับขี่ การต่อทะเบียนรวมถึงการเสียภาษีรถยนต์ ซึ่งในอนาคตจะขยายจุดบริการไปในห้างสรรพสินค้ามากขึ้นโดยประชาชนไม่ต้องเดินทางไปที่หน่วยงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ตลอดจนพัฒนาการชำระและดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เพื่อส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์แบบพาสปอร์ตเป็นต้น ทั้งนี้ยังเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้พิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ซี่งทั้งหมดนี้ตนอยากเห็นแต่ละหน่วยงานเพิ่มสัดส่วนงบประมาณปี61ที่จะนำมาดำเนินการที่เพิ่มขึ้น แต่หากยังทำไม่ได้ให้ถือเป็นนโยบายว่าปีงบ 62 ต้องทำให้ได้
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดกล่าวว่า ระบบโดยสารรถไฟฟ้าอย่างแอร์พอร์ตลิงก์นั้นจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากยิ่งขึ้นทั้งการใช้ระบบตั๋วร่วมเชื่อมต่อการเดินทางทั้งระบบควบคู่ไปกับโครงการจัดซื้อตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ (TVM) จำนวน 7 ตู้ได้แก่ สถานีพญาไท 3 ตู้ สถานีลาดกระบัง 3 ตู้และสถานีสุวรรณภูมิ 1 ตู้ การติดตั้งระบบตั๋วร่วมตลอดจนออกโปรโมชั่นจูงใจผู้โดยสารให้ผู้โดยสารหันมาใช้บัตรรถไฟฟ้าแทนการออกเหรียญแบบเดิมอีกด้วย ควบคู่ไปกับดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอกชนเพื่อติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ทไร้สาย (Wi-Fi) ในทั้ง 8 สถานี
สำหรับด้านความปลอดภัยนั้นแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ระหว่างพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลรถไฟฟ้าซึ่งจะเป็นแห่งแรกของโลก เรียกว่าระบบ Realtime Riding Safety โดยติดตั้งเซ็นเซอร์จัดเก็บข้อมูลบนรถไฟทุกขบวนและส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านระบบ Cloud Sourcing อาทิ ความเร็วของรถ ความสั่นและเสถียรภาพระหว่างทางเป็นต้น จากนั้นระบบจะประเมินข้อมูลว่าความเร็วปัจจุบันปลอดภัยหรือไม่และความสั่นอยู่ในระดับที่ผู้โดยสารจะนั่งสบายมากน้อยแค่ไหนเป็นต้น นอกจากนี้ระบยดังกล่าวยังช่วยให้คาดการณ์แนวทางการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องรวมถึงบอกปัญหาอาการขัดข้องของรถไฟฟ้าได้อย่างตรงจุด ลดภาระต้นทุนซ่อมบำรุงได้ ทั้งนี้คาดว่าระบบดังกล่าวจะเริ่มนำมาติดตั้งและปรับใช้ได้ในปี 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมท่่อากาศยาน(ทย.)ว่า ขณะนี้ ทย.ได้เตรียมนำระบบเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบินภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีแผน ลงทุนงานระบบติดตั้งระบบตรวจสัมภาระแบบ In-line Screening และระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด (EDS) วงเงินรวม 8,837 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนในงบประมาณปี 2561 โดยตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนประกวดราคา คาดว่าจะดำเนินติดตั้งระบบได้ก่อนจำนวน 3 สนามบินได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานีและสนามบินสุราษฎร์ธานี ก่อนเร่งติดตั้งให้ครบทั้ง 28 สนามบินต่อไปในปี 2561-2562
นอกจากนี้ทย.ยังมีแผนพัฒนาระบบเคาเตอร์เช็คอินร่วม (common use) ให้สายการบินใช้เคาน์เตอร์ร่วมกันเพื่อลดเวลาการรอคิวของผู้โดยสารอีกด้วย โดยจะนำร่องที่สนามบินกระบี่และสนามบินขอนแก่นเพรสะมีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมสก ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปีหน้าก่อนใช้เวลาติดตั้งระบบราว 3-4 เดือนเพื่อเปิดใช้ตามเป้าหมายช่วงปลายปี 2561 อย่างไรก็จามทย.ยังมีแผนนำเทคโนโลยีมาช่วยด้านความปลอดภัยอาทิ เพิ่มระบบกล้องวงจรปิดCCTVภายในสนามบินทั่วประเทศตลอดจนเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ความปลอดภัยรอบรั้วสนามบินและเขตทางเดินอากาศ(Airside) บริเวณรันเวย์