กทท. แจงผลการดำเนินงานประจำปีงบ’60 ตู้สินค้าผ่านท่ารวม 9.175 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 7%

0
440

เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ประจำปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – กันยายน 2560) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้

ทกท.เรือเทียบท่า 2,641 เที่ยว ลดลง 14.700 % สินค้าผ่านท่า 20.615 ล้านตัน ลดลง 2.048 %ตู้สินค้าผ่านท่า 1.498 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 0.531 % ทลฉ. เรือเทียบท่า 5,890 เที่ยว ลดลง 6.690 % สินค้าผ่านท่า 83.889 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.320 %ตู้สินค้าผ่านท่า 7.677 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 8.730 % ทชส. เรือเทียบท่า 2,907 เที่ยว ลดลง 16.585 %  สินค้าผ่านท่า 0.198 ล้านตัน ลดลง 4.808 % ทชข. เรือเทียบท่า 676 เที่ยว ลดลง 28.238 %  สินค้าผ่านท่า 0.078 ล้านตัน ลดลง 8.235 % และทรน. เรือเทียบท่า 242 เที่ยว ลดลง 30.058 %  สินค้าผ่านท่า 0.066 ล้านตัน ลดลง 60.714 %

จากภาวะเศรษฐกิจในปี 2560 การส่งออกสินค้าขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนมีแนวโน้มการเติบโตพร้อมๆ กันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา พบว่าตู้สินค้า      ผ่านท่ารวม 9.175 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 7.097 % สินค้าผ่านท่า 104,504 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.102 % และเรือเทียบท่า 8,531 เที่ยว ลดลง 8.915 % เนื่องจากปริมาณเรือตู้สินค้าของ ทลฉ. ลดลง

ในปี 2560-2561 เศรษฐกิจของไทยขยายตัว 3.8 % เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2560 ขยายตัว 8% ขณะที่สินค้าหลายประเภทได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย อีกทั้งราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ จากการส่งออกที่ขยายตัวทำให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น จึงคาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัว ในระยะสั้นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก แต่ภาคธุรกิจบางส่วนยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่และรอความชัดเจนต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ