ควันหลงจากการที่นายกฯในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ด้วยข้ออ้างได้รับการร้องเรียนว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ผลพวงจากประกาศิตปิดเหมืองแร่ทองคำในไทยดังกล่าว ยังผลให้บริษัท Kingsgate Consolidated ของออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซสจำกัด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ที่ถือเป็นเหมืองแร่ทองคำใหญ่ที่สุดในไทยยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องชดใช้ความเสียหายแก่บริษัท วงเงินกว่า 750 ล้านเหรียญหรือกว่า 30,000 ล้านบาท ด้วยข้ออ้างละเมิดข้อตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน พร้อมประกาศจะใช้สิทธิ์ยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุโยโตตุลาการ ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้
ทำเอากระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลคสช.ถึงกับไปไม่เป็นต้องลนลานตั้งคณะทำงานขึ้นเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ก่อนที่บริษัทจะยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยรู้ซึ้งถึงบทเรียนมาแล้วจากกรณีค่าโง่รถดับเพลิง กทม.มูลค่ากว่า 6,600 ล้านบาท
แน่นอนว่าหากกรณีปิดเหมืองแร่ทองคำนี้ต้องจบลงด้วย “ค่าโง่” นับหมื่นล้าน รัฐบาลคสช.และโดยเฉพาะตัวนายกฯคงไม่สามารถจะ “ปัดความรับผิดชอบ” ไปให้รัฐบาลใดหรือใครอื่นได้ เพราะทั้งหลายทั้งปวงล้วนมาจากการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น ด้วยมั่นใจในอำนาจเบ็ดเสร็จที่ตนเองมี
ไม่แต่เพียงกรณี “ค่าโง่”เหมืองแร่ทองคำ 30,000 ล้านที่กำลังทำเอารัฐบาลคสช.งานเข้า อีกกรณีที่กำลังระอุแดดจ่อจะต้องจบลงด้วย “ค่าโง่”อีกกรณี ก็คือการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยื่นโนตี๊สไปยังบริษัทไทยคม จำกัด(มหาชน) สั่งให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานด้วยการโอนทรัพย์สินดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 กลับไปอยู่ในระบบสัมปทาน พร้อมจ่ายค่าต๋งสัมปทานเพิ่มเติมให้แก่รัฐ นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายให้แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
ทำเอาไทยคมและบริษัทอินทัช โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่นั่งไม่ติด ถึงกับต้องวิ่งโร่ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการเพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช.มาอย่างถูกต้อง โดยไทยคม 7 ได้ใบอนุญาตในปี 2555 และไทยคม 8 ในปี 2557 กระทรวงดีอีไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะให้สัมปทานใดๆได้อีก เพราะการประกอบกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องเข้าสู่ระบบให้ใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 และพรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544
ฟังเหตุผลของรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงดีอีที่ไม่รู้กินดีหมีดีเสือมาจากไหนถึงลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวจะสอยดาวเทียมที่ไม่อยู่ในอำนาจของตนเองนั้น ก็อ้างว่า ในเมื่อไทยคมยืนยัน นั่งยันว่าดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ไม่ได้เป็นดาวเทียมในระบบสัมปทานของกระทรวงดีอี ย่อมไม่มีสิทธิ์จะยื่นขอตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่บริษัทจะขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่า บริษัทยอมรับว่าไทยคมทั้งหมดเข้าสู่ระบบสัมปทาน
ประกอบกับที่ผ่านมา บริษัทเข้าไปรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช.โดยไม่ได้มีการแยกทรัพย์สิน แยกบริษัทให้เป็นสัดส่วนจนยากที่จะตรวจสอบได้ว่าส่วนไหนคือทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานที่ต้องยกให้รัฐ เมื่อเป็นดังกล่าวก็สมควรจัดระเบียบให้เบดเสร็จ
หาไม่แล้วก็ต้องไปว่ากันและจบที่ศาลให้รู้แล้วรู้รอดเท่านั้น!
ฟากฝั่งผู้บริหารไทยคมได้ออกมาตอบโต้อย่างหนักหน่วงยืนยันการดำเนินการของกระทรวงดีอีที่จะให้ไทยคม 7 และ 8 ต้องกลับไปอยู่ในระบบสัมปทานนั้นเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายหลายฉบับทั้งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี2544 ที่ห้ามขยายหรือเพิ่มเติมสัญญาสัมปทาน และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 ที่ให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมในทุกรูปแบบต้องเข้าสู่ระบบให้ใบอนุญาต
นอกจากนี้การจะนำไทยคม 7และ8 กลับเข้าสู่ระบบสัมปทาน กระทรวงดีอีคงต้องตอบคำถามทุกฝ่ายด้วยว่าจะกระทำโดยวิธีใด เพราะการจะให้กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี2535 มาตั้งแต่ต้น ทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการ การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก และกระบวนการในขั้นตอนอื่น ๆ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ไม่สามารถจะดำเนินการย้อนหลังได้ “จะให้บริษัทเอกชนโอนทรัพย์สินไปให้กระทรวงดีอีดื้อๆ โดยไม่มีกฎหมายรองรับได้หรือ มันจะกลายเป็นลาภไม่ควรได้ที่รัฐจะต้องชดเชยความเสียหายด้วยอีก”
นอกจากนี้ก่อนหน้าที่ไทยคม 7และ8 จะได้รับใบอนุญาตจากกสทช.นั้น กระทรวงดีอีเองก็มีเอกสารยืนยันว่าไทยคมได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาตครบถ้วนแล้ว และกระทรวงดีอีก็ยืนยันรับรองความถูกต้องไปหมดแล้ว โดยถือเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ได้ใบอนุญาตตามระบบใหม่ “แต่วันนี้กลับจะมาบอกว่าเอกชนทำผิดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่ดีอีเองไม่เคยมีการท้วงติง หรือมีหนังสือแจ้งให้บริษัทดำเนินการใดๆ มาก่อนก่อนยังมีข่าวว่าอดีตปลัดกระทรวงดีอีที่เคยมีเอกสารยืนยันการดำเนินงานยังทำลายเอกสารทางการเหล่านี้ไปหมดแล้วด้วยอีก
“จะอ้างว่าบริษัทเข้าไปรับใบอนุญาตไทยคม 7และ 8 โดยไม่แยกกิจการแยกบริษัททำให้ยากแก่การตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องยกให้รัฐ และตรวจสอบค่าสัมปทานก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งเหล่านี้มีผู้ตรวจสอบบัญชีทำหน้าที่อยู่แล้ว อีกทั้ง มีคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ทำหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินการตามสัญญามาโดยตลอดแต่กลับไม่มีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นเหล่านี้”
ก่อนหน้านี้กระทรวงดีอีก็ทำให้ประเทศต้องสูญเสียผลประโยชน์ของชาติไปนับหมื่นล้าน จากการที่ไปถอนไฟลลิ่งตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไทยคม 9 ที่ยื่นไว้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) ทำให้ไทยสูญเสียสิทธิ์ยิงดาวเทียมก่อนประเทศอื่นไป
ความเสียหายที่เกิดข้ึนไม่เพียงทำให้ลูกค้าในหลายประเทศที่แสดงความจำนงจะขอใช้ดาวเทียมไทยคม 9 ก่อนหน้าอย่างซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีแผนจองใช้ไทยคม 9 กว่า 30% มูลค่านับหมื่นล้านบาทแจ้งขอยกเลิกการใช้งานไทยคม 9 ไปแล้ว ยังกระทบไปถึงแผนการยิงดาวเทียมไทยคม 10 และ 11 ที่ต้องยิงทดแทนไทยคม 4 และไทยคม 5 ซึ่งดีอีจ่อจะปล่อยวงโคจรให้หลุดลอยไปอีก
สำหรับ Logistics Time นั้น กรณีเหมืองแร่ทองคำของคิงส์เกต ออสเตรเลียนั้น รัฐบาลอาจอ้างเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทำให้ต้องงัดม.4 ปิดและระงับการทำเหมืองแร่ทอดคำทั่วงประเทศไป แต่กระน้ันรัฐบาลยังคงถูกฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้ต้องชดเยความเสียหายแก่บริษัท
แต่กรณีที่กระทรวงดีอีจ้องจะสอยดาวเทียมของเอกชนถึงขั้นทำหนังสือจะยึดดาวเทียมไทยคม 7 และ8 ทั้งที่ไม่ได้เป็นกิจการสัมปทานของตนเองจนสร้างความเสียหายต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างหนักนั้น หาไม่มี “โอ้โม่ง-มือที่มองไม่เห็น” ชักใยอยู่เบื้องหลัง ปลัดกระทรวงดีอีคงไม่กินดีหมีลุยไฟไปขนาดนี้แน่
และหากท้ายที่สุดต้องจบลงด้วยความเสียหายและ “ค่าโง่”ไปอีกโครงการ ความเสียหายที่เกิดข้ึนทั้งรัฐบาลและกระทวงดีอีคงปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้แน่่