กังขา กสทช.เร่งเครื่องประมูล 4 จี

0
225
กังขากสทช.เร่งเครื่องประมูลคลื่น 850-1800 กระเตงยักษ์สื่อสารทิ้งงานประมูลเข้าร่วมอีก
 
วงการสื่อสารสิ้นข้อกังขา หลัง “บิ๊กกสทช.” รวบรัดชิงประกาศเกณฑ์ประมูลคลื่น 850-1800  แถมกระเตงบริษัทสื่อสารที่เคยทิ้งงานประมูลเข้าร่วม พบก่อนหน้าเพิ่งอนุมัติขยายใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตล่วงหน้าให้บริษัทไปถึง 15 ปีทั้งที่ใบอนุญาตเดิมยังเหลืออีกตั้ง 9 ปี กระทุ้งหน่วยงานตรวจสอบทุจริตไม่คิดล้วงลูกลงไปดูบ้างหรือ
แหล่งข่าวในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่าในการประชุมบอร์ด กสทช.สัปดาห์นี้ สำนักงานกสทช.จะนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 4 จีบนคลื่น  900 และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz)เพื่อรองรับสัมปทานมือถือของดีแทคที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานวันที่ 15 กันยายน 2561 หลังจากคณะกรรมการกลั่นกรองได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมบอร์ดกลั่นกรองได้มีการซักถามที่มาที่ไปของการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งการตั้งราคาประมูลขั้นต่ำที่อิงจากราคาของผู้ชนะประมูลในครั้งก่อน ทั้งที่เป็นราคาที่มีผู้ทิ้งงานประมูลจนสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ แต่เลขาธิการ กสทช.ได้ชี้แจงแทนคณะทำงาน โดยยืนยันว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดมาตั้งแต่ต้น  
อย่างไรก็ตามที่ประชุมบอร์ดกลั่นกรองยังคงแสดงความกังวลต่อกรณีที่เลขาธิการกสทช.ยืนยันว่า จะเปิดกว้างให้บริษัทสื่อสารที่เคยทิ้งงานประมูลเข้าร่วม โดยอ้างว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว มื่อบริษัทได้จ่ายค่าปรับแล้วจึงไม่ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงานและไม่มีความผิดใดๆ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมว่าจะผ่านประชาพิจารณ์หรือไม่ และอาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. เนื่องจากอาจถูกมองว่ากสทช.เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทสื่อสารบางราย
แหล่งข่าวกล่าวว่าประเด็นในเรื่องที่กสทช.จะเปิดกว้างให้บริษัทสื่อสารที่เคยทิ้งงานประมูลคือบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์จำกัด(JAS) เข้าร่วมนั้นได้ สร้างความอึดอัดให้กับบอร์ด กสทช.อย่างยิ่ง จนอาจตีกลับให้กสทช.กลับไปทบทวนประเด็นดังกล่าวใหม่ เพราะเกรงว่าอาจสร้างปัญหาให้กับการประมูลที่จะมีขึ้น เพราะลำพังแค่การที่กสทช.ลงโทษบริษัทที่ทิ้งการประมูลครั้งก่อน ด้วยการริบหลักประกันและปรับบริษัทเพียง 196 ล้านบาท โดยไม่มีการขึ้นแบลกลิสต์ตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุก่อนหน้า ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่แล้ว
เพราะผลพวงจากพฤติกรรมของบริษัทที่เข้ามาป่วนการประมูลในครั้งนั้นได้ทำลายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจนเกือบไม่มีทางออก จนกสทช.ต้องวิ่งรอกไปขอให้นายกฯในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ผ่าทางตันและจัดประมูลใหม่ให้ เมื่อกสทช.ยังมาอนุมัติให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ให้กับบริษัทสื่อสารผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3 บีบี อันเป็นบริษัทแม่ของแจส โมบาย ด้วยอีก โดยต่อใบอนุญาตให้ถึง 15 ปีจากที่จะสิ้นสุดในปี 2569 เป็นสิ้นสุดปี 2575 ทั้งที่ใบอนุญาตเดิมยังเหลืออีกตั้ง 9 ปีนั้น แวดวงโทรคมนาคมก็พากันกังขากันมากพออยู่แล้ว
“เมื่อ กสทช.ยังเปิดกว้างให้บริษัทที่เคยทิ้งการประมูลเข้าร่วมประมูลได้อีกจึงยิ่งทำให้ผู้คนในแวดวงโทรคมนาคมสิ้นสงสัยหากบริษัทไม่มีแบ็คดี หรือมีผู้ใหญ่ระดับบิ๊กในกสทช.หนุนหลังคงไม่ได้รับการโอบอุ้มมากถึงขนาดนี้ หลายฝ่ายจึงวิพากษ์กันอย่างหนาหูเหตุใดกรณีอื้อฉาวขนาดนี้ หน่วยงาน/องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องทุจริตทั้งหลายโดยเฉพาะคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง)และคณะกรรมการป.ป.ช.ถึงไม่คิดจะล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบ หรือถูกซื้อไปหมดแล้ว” 
Cr.ภาพรประกอบจาก www.mxphone.net