รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ย้ำพอใจในผลการดำเนินงาน ชี้การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ตาม Action Plan 2560 คืบหน้าอย่างมาก ส่งแรงหนุนเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 ได้เกินเป้าร้อยละ 90 เร่งเบิกจ่ายในปีนี้อีก 1.16 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 61 อีก 8 แสนล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาว่ากระทรวงฯ มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตาม Action Plan 2560 มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 90 โดยจะเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้อีก 1.16 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 จำนวน 800,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศ
“โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการสำคัญที่กระทรวงฯ ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขอให้กระทรวงฯ เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2560 ทั้งนี้ การดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ขอให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงาน”
นอกจากนี้ นายสมคิด ระบุอีกว่าด้านรฟท.นั้น ให้เร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนงาน และคาดว่าโครงการรถไฟไทย – จีน (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) จะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม 2560 ขณะะที่รฟม.ให้เร่งรัดดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง เมืองหลักในภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ให้เร่งรัดการก่อสร้างภายในปี 2561 และให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี และพิษณุโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค
“ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแอร์บัส จะสามารถลงนามความร่วมมือการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้ภายในปี 2560 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการจัดทำ Aviation Hub และมอบให้ 3 หน่วยงานหลักด้านการบิน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการบริหารจัดการท่าอากาศยานในภูมิภาค จำนวน 28 แห่ง ที่เหมาะสม โดยให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน 2560”
ขณะที่การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future fund) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกนั้น นายสมคิด กล่าวว่าขณะนี้ผลการศึกษาและกระบวนการขั้นตอนการจัดทำกำลังจะแล้วเสร็จ คาดจะสามารถเปิดขายให้แก่นักลงทุนได้เมื่อตลาดหุ้นของไทยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น
“ให้กรมทางหลวงดำเนินการพัฒนาที่พักริมทางหลวง (Rest Area) ตามเส้นทางหลักให้มีความสวยงาม เป็นจุดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น สินค้าเกษตรกรรม และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ ให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการพัฒนาเส้นทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในภูมิภาคของไทย”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ มีแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) พ.ศ. 2561 เพื่อการขับเคลื่อนแผนงานต่อเนื่องจากปี 2559 และ 2560 โดยโครงการที่ต่อเนื่องมาจากปี 2560 ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการ PPP จำนวน 24 โครงการ โครงการที่ประกวดราคาแล้วเสร็จ สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ จำนวน 27 โครงการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 51 โครงการ โดยในปี 2561 มีโครงการใหม่ จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข รังสิต – บางปะอิน โครงการทางยกระดับบน H35 กรุงเทพฯ – มหาชัย โครงการพัฒนาธุรกิจท่าเรือบก (Dry Port) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่และท่าอากาศยานขอนแก่น ระบบขนส่งมวลชนทางรางจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และมีปัญหาการจราจรหนาแน่น