คลี่เมกะโปรเจ็กต์อีอีซี….พีพีพีจำแลง?

0
289

จุดพลุเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ปีก่อน

กับ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก (อีอีซี ) ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์​โอชา หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเลือกพื้นที่ภาคตะวันออกอันเป็นที่ตั้ง Eastern Seaboard เดิม ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ

นายกฯ ถึงกับงัด ม.44 เป็นใบเบิกทางในการดำเนินโครงการนี้ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานดำเนินโครงการ ก่อนจะมีการยกร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ.2560หรือ “พ.ร.บ.อีอีซี” ตามมา ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ในระยะแรก 5 ปีนั้น รัฐบาลจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของโครงการนี้ วงเงิน 500,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาวงเงิน 200,000 ล้านบาท  2. โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – ระยอง วงเงิน 158,000 ล้านบาท ที่จะเชื่อมโยงสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ 3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 88,000 ล้านบาท  4. โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงท่าเรือ 3 แห่ง วงเงิน 64,300 ล้านบาท และ 5. โครงการพัฒนาเมืองใหม่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ล่าสุด คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ 5 โครงการที่จะเร่งรัดดำเนินการภายในปี 2561 ด้วยรูปแบบพิเศษ “อีอีซีฟาสต์แทร็ค” ก่อนนำเสนอกรอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) อีอีซีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 22 พ.ย.นี้

 

*เร่ง 5 โครงการเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี

ทั้ง 5 โครงการหลักที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis)  2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ 3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, 4.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3  และ 5.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โดยมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 450,000 ล้านบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  ประธานอนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนเอกชนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการที่จะเริ่มดำเนินการได้ก่อน 2 โครงการคือ 1. ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) วงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาทนั้น บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน)ได้ร่วมมือกับ บริษัท แอร์บัส จำกัด เริ่มลงทุนปี 2561ตั้งเป้าหมายเริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงได้ภายในปี 2564

พีพีพี หรือประเคนให้เอกชน 

เรื่องของการผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนน้ัน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายพอจะเข้าใจได้ เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างก็มีการดำเนินโครงการลงทุนเหล่านี้ ยิ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นห่างเหินการลงทุนในโครงการเหล่านี้มานับทศวรรษด้วยแล้ว

แต่หากจะถามว่า การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลกำลังตีฆ้องจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศนั้น  ตอบโจทย์ในสิ่งที่นักลงทุนเพรียกหาหรือไม่?

คำตอบก็คือ เปล่าเลย! 

เมื่อคลี่ไส้ในโครงการลงทุนพีพีพีที่รัฐบาลและสำนักงานอีอีซีตีฆ้องอยู่เวลานี้ ที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ผ่านรูปแบบพีพีพี “ซูเปอร์ฟาสต์แทร็ค” เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการเหล่านี้ โดยเชื่อว่าจะสามารถร่นระยะเวลาในการพิจารณาดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเบ็ดเสร็จไม่เกิน 8-9 เดือนน้ัน

มันจะเรียกว่าโครงการ “พีพีพี” ดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้อย่างไร? ในเมื่อโครงการเหล่านี้ล้วนเอางบประมาณของรัฐทุ่มเทลงไปเป็นส่วนใหญ่ แล้วจึงให้เอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนการบริหารจัดการ หรือรับสัมปทานในส่วนของการ Operate ในสัดส่วนไม่เกิน 15-20% เท่านั้น  

อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบินเพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อ วงเงินลงทุน 1.58 แสนล้านบาทนั้น โครงการลงทุนในส่วนของรัฐคงไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานบริหาร 20-30 ปี (เผลอๆ จะ 50-99 ปีด้วยซ้ำ) จะลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น ก็ได้รับสัมปทานโครงการดังกล่าวไปทั้งหมด รวมทั้งยังได้สิทธิ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวโครงการไปด้วย

รถไฟ-แอร์พอร์ตลิงค์จ่อถูกเขี่ย

ประการสำคัญที่ไม่รู้ว่าภาครัฐได้ชี้แจงให้การรถไฟฯ และประชาชนได้รับรู้หรือไม่ก็คือ การจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือรับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อม 3 สนามบินที่ว่านี้ ในส่วนของรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงค์” ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการอยู่นั้นจะถูกผนวกเข้าไปด้วยหรือไม่ หรือแยกโครงการออกมาเป็นเอกเทศ

เพราะหากรัฐและกระทรวงการคลังเดินหน้าดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ เพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ก็หมายความว่าจะให้เอกชนเพียง “รายเดียว” รับสัมปทานโครงการนี้ไปทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ หรือบริษัทรถไฟฟ้า รฟท. อีกแล้ว

“แต่หากจะแยกรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ออกมาให้รถไฟดำเนินการเองต่อไป ก็จะกลายเป็นปัญหาคอขวด ไม่ครบ Loop ตามเป้าหมายของรัฐบาลอีก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์อาจถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการและดึงเอกชนเข้ามารับสัมปทานบริหารโครงการไปทั้งหมด”   

แหลมฉบังเฟส 2 ยังไม่เต็มศักยภาพ

เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ตั้งเป้าหมายจะขยายขีดความสามารถให้รอบรับตู้สินค้าได้ถึง 18.5 ล้านตู้ จากปัจจุบันที่รองรับตู้สินค้าได้ 10.5 ล้านตู้ทีอียูนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความกระจ่าง ก็คือ ได้เคยหวนกลับไปศึกษาหรือไม่ว่าศักยภาพของแหลมฉบังเฟส 2 ที่รองรับตู้สินค้าได้ถึง 10.5 ล้านตู้ ซึ่งเปิดดำเนินการไปนับ 10 ปีแล้วนั้นปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้อยู่เท่าไหร่?

5-6 ล้านตู้เท่านั้น และไม่รู้จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจากนี้จึงจะเต็มศักยภาพ จึงแทบไม่ต้องคิดไปไกลเลยว่า เราจะหาสินค้าจากไหนมาป้อนให้แหลมฉบังเฟส 3 เพื่อให้ตู้สินค้าไปได้ถึง 18.5 ล้านตู้ในระยะ 10-20 ปีข้างหน้านี้

อย่างที่นักวิชาการ ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เคยวิพากษ์โครงการลงทุนของรัฐในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกก่อนหน้านี้ว่า เราต้องมีตีโจทย์ให้แตกก่อน รัฐบาลออกนโยบาย EEC เพื่อรักษาฐานนักลงทุนเดิมหรือไม่ ถ้าต้องการรักษาฐานนักลงทุนเดิม นั่นหมายความว่าจะต้องต่อบีโอไอให้นักลงทุน ถ้าไม่ต่อบีโอไอนักลงทุนก็ย้ายฐานไปที่อื่น แต่โจทย์วันนี้ เราต้องการกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค แต่โครงการอีอีซีนั้นเป็นโครงการลงทุนในจุดเดิมที่เรียกได้ว่าเต็มศักยภาพไปแล้ว

“ส่วนการลงทุนในโครงการแหลมฉบัง เฟส 3 ที่จะรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18.5 ล้านตู้นั้น สิ่งที่รัฐต้องตระหนักก็คือ เมื่อลงทุนไปแล้ว เราจะหาสินค้าจากไหนมาป้อนให้หาไม่แล้วจะกลายเป็น Sulk Cost เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าขึ้นมาทันที”