ซีพีเอฟ เดินหน้าขยายความสำเร็จ คอมพาร์ทเมนต์ป้องกันโรคสัตว์ปีก

0
227

โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Avian Influenza  Type A) แบ่งออกได้เป็นไข้หวัดนกชนิดรุนแรง  และชนิดไม่รุนแรง สายพันธุ์ที่มักจะทำให้เกิดโรคในนกและมีความรุนแรงได้แก่ สายพันธุ์ H5 และ H7 ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่ระบาดกันได้ในหมู่สัตว์ปีกทุกชนิด มีระยะการฟักตัวเฉลี่ย 3 – 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน หากเชื้อโรคติดต่อสู่คนจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยทั่วไปเชื้อไข้หวัดนกนี้มักระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม  โรคไข้หวัดนกเป็นโรคที่สามารกป้องกันได้   เมื่อพบการระบาดในสัตว์จะต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฟาร์มนั้น  รวมทั้งสัตว์ปีกในรอบรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนั้นแล้วซากสัตว์ ไข่ หรือมูลสัตว์ก็ต้องทำลายด้วยการฝังหรือเผา ห้ามนำมารับประทานหรือนำไปทำปุ๋ยเด็ดขาด  รวมถึงการทำความสะอาดโรงเรือน  และรอบๆบริเวณด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

ตลอดจนการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกนอกพื้นที่ระบาดโดยเด็ดขาด และเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กิโลเมตร  อีกทั้งห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ระบาด จนกว่าจะตรวจสอบแล้วว่าไม่พบเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ

ล่าสุด  ณ  จ.นครราชสีมา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคชูความสำเร็จคอมพาร์ทเมนต์ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดนกมากว่า 10 ปี เร่งผลักดันโรงงานแปรรูปเนื้อไก่มาตรฐานสากลสู่การรับรองมาตรฐานระบบคอมพาร์ทเมนต์จากกรมปศุสัตว์ต่อเนื่อง คาดแล้วเสร็จปี 2561

น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเป็นผู้ผลิตรายแรกของไทยที่ดำเนินการระบบป้องกันและประเมินความเสี่ยงโรคไข้หวัดนกในระดับสูงสุด โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการในรูปแบบการบริหารจัดการภายใต้ระบบคอมพาร์ทเมนต์(Compartment) สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร ตามแนวคิดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ  (OIE) มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

โดยซีพีเอฟได้นำหลักการคอมพาร์ทเมนต์ มาใช้ในทุกกระบวนการผลิตสัตว์ปีกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์-โรงฟักไข่ ฟาร์มเลี้ยง จนถึงโรงงานแปรรูป  ทำให้บริษัทได้รับการรับรองคอมพาร์ทเมนต์ฟาร์มไก่เนื้อและเป็ดเนื้อจากกรมปศุสัตว์มาตั้งแต่ปี 2554 ล่าสุดได้รับการรับรองสำหรับฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์และโรงฟักไข่รายแรกของไทย ขณะที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการรับรองภายในปี 2561

“ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการนี้ได้ขยายออกไปยังผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตปศุสัตว์ของไทย ที่สำคัญไทยถือเป็นประเทศแรกที่นำมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกของ OIE มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ ทำให้ไทยไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ระบบคอมพาร์ทเมนต์จึงถือเป็นคำตอบของการผลิตอาหารเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานปลอดภัยและปลอดไข้หวัดนกอย่างแท้จริง” น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าว

 กรมปศุสัตว์ตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุก

สำหรับการตรวจรับรองระบบโดยกรมปศุสัตว์นั้น นับว่าเป็นการตรวจรับรองที่มีมาตรฐานสูงและอาศัยเวลาในการตรวจประเมินค่อนข้างนาน เนื่องจากต้องดำเนินการบนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านการประเมินการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก และต้องใช้เวลาพิสูจน์ผลทางห้องปฏิบัติการด้วยการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างน้อย 1 ปี อีกทั้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ต้องเข้าตรวจสอบทุกฟาร์มอย่างละเอียดเข้มงวดที่สุดจึงผ่านเกณฑ์

ขณะเดียวกัน  กรมปศุสัตว์ยังมีระบบการเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ (active and passive surveillance) การตรวจประเมินสุขภาพสัตว์ รวมทั้งมีการตรวจติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงสถานะของฝูงสัตว์ปีกปลอดโรคในประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยปลอดภัยไร้กังวลจากโรคไข้หวัดนก

ทั้งนี้ ระบบคอมพาร์ทเม็นต์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปครบวงจร ประกอบด้วย คอมพาร์ทเม็นต์สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ คอมพาร์ทเม็นต์สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ คอมพาร์ทเม็นต์สำหรับโรงฟักไข่สัตว์ปีก คอมพาร์ทเม็นต์สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ และคอมพาร์ทเม็นต์สำหรับโรงงานแปรรูปสัตว์ปีก โดยมีการจัดการ 4 หมวดหลัก ได้แก่

1.มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) สำหรับโรคไข้หวัดนก 2.การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ 3.การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4.การตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิต

โดยซีพีเอฟดำเนินการทั้ง 4 หมวดอย่างจริงจัง ควบคู่กับการมุ่งให้ความรู้แก่พนักงานและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกถึงเรื่องสุขศาสตร์ การป้องกันโรค วิธีการสังเกตอาการของสัตว์ปีกที่ป่วย และแนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง.