ขณะที่รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายในอันที่จะสนับสนุนการค้าออนไลน์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี( SMEs) ก้าวเข้าสู่การตลาดการค้าบนโลกออนไลน์ รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอี โอทอป สร้างเครือข่ายกระบวนการเรียนรู้เพื่อดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) ท้องถิ่นทั้งหลายให้เข้าสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ที่คาดว่าปีนี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าแตะ 2.45 ล้านล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ถึงกับเปิดเว็ปท่า thaitrade.com และล่าสุด thaitrade.com Sook (Small Order OK) เพื่อช่วยผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีให้มีหน้าร้านโชว์และซื้อขายสินค่าในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น จนสามารถดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบกว่า 1.3 แสนราย มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 2,000 ล้านบาทไปแล้วในเวลานี้
แต่เมื่อกระทรวงการคลังจุดพลุยกร่างพระราชบัญญัติ(พรบ.)จัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจากผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำเอาผู้ประกอบการน้อยใหญ่โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังถูกดึงเข้าสู่โลกออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซระส่ำ
ลำพังแค่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตใหม่ พ.ศ.2560 ที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุรา ยาสูบใหม่ทั้งระบบ จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มทุกชนิดตามปริมาณความหวาน ไปจนถึงไล่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตภัตตาคาร สถานบันเทิง สถานบริการ ร้านอาหารที่ ก็ทำเอาธุรกิจน้อยใหญ่หายใจไม่ทั่วท้องอยู่แล้ว ไหนจะมีเรื่องร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ พ.ศ.2560 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งกระทรวงการคลังหวังจะใช้บังคับในปี 2561
เมื่อต้องมาเจอกับการยกร่างกฎหมายจัดเก็บ “ภาษีอีคอมเมิร์ซ”ที่กระทรวงการคลังหวังจะนำมาใช้ในปี 2561 นี้ด้วยอีก เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”ผลักดันให้ธุรกิจไทยโดยเฉพาะกิจการเอสเอ็มอี(SMEs) โอท็อป หรือสินค้าภูมิปัญญาทองถิ่นที่รัฐและกระทรวงพาณิชย์กำลังส่งเสริมให้เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นอาจถึงขั้นปั่นป่วนจนเสียศูนย์
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังไต่ระดับ
ข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเพิ่งจัดงาน Thailand Online Mega Sale 2017 ไปเมื่อวันที่ 1-7 สิงหาคม 60 ที่ผ่านมาได้คาดการณ์ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือตลาด “อีคอมเมิร์ซไทย” ในปี 2560 นี้จะทะยานแตะ 2.4 ล้านล้านบาท และคาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนจะขยายตัวถึง 200,000 ล้านเหรียญภายใน 8 ปีข้างหน้า(2025) นี้
ขณะที่สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือตลาด “อีคอมเมิร์ซไทย” ในปี 2559 มีมูลค่าถึง 2,560,103.36 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 14.03% (2,245,147.02 ล้านบาท)
ขณะที่ปี 2560 นี้ ETDA ได้คาดการณ์การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท แยกเป็นอีคอมเมิร์ซแบบ B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท (59.56%), มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท (28.89%) และมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท (11.55%) เทียบเป็นอัตราส่วนการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 9.86% (ปี 2559-2560) จากปัจจัย 4 ประการได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐ, ผู้ประกอบการหันมาพึ่งช่องทางออนไลน์มากขึ้น, แนวโน้มการเติบโตในอนาคต และนักลงทุนต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย กำลังเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่จากนโยบายของรัฐและกระทรวงการคลังที่กำลังตั้งแท่นผลักดันร่างพ.ร.บ.จัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยมีเป้าหมายจะจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการค้าออนไลน์ จากผู้ประกอบการค้าออนไลน์รายใหญ่ที่กระทรวงการคลังมองว่าได้ประโยชน์โดยที่ประเทศไทยไม่ได้อะไรกลับมา
คลี่ร่าง ก.ม..ภาษีอีคอมเมิร์ซ
ล่าสุด สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือ “ภาษีอี-คอมเมิร์ซ” จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและมีผลบังคับใช้ให้ได้ปีงบประมาณ 2561 นี้ ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรได้เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมาย หลังจากหลายปีที่ผ่านมาเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนมาก
โดยสาระหลักของ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีอี-คอมเมิร์ซ กำหนดให้เก็บภาษีกับผู้ประกอบการนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ไลน์ เป็นต้น โดยมีกำหนดเพดานสูงสุดไว้ในกฎหมายให้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่เกิน 15% โดยจะมีการตรากฎหมายลูกกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บจริงอีกครั้งและกำหนดให้ผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งสรรพากร
“กระทรวงการคลังได้สั่งการให้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้ามาในระบบและเสียภาษีจริงมากขึ้น ซึ่งมีการดำเนินมาตรการบัญชีเดียว การส่งเสริมให้บุคคลธรรมดามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษีกว่า 10 ล้านคนแต่ มีการเสียภาษีจริงไม่ถึง 6 ล้านคน”
ดาบ 2 คมไล่เบี้ยภาษีออนไลน์
แม้การไล่เบี้ยเก็บภาษีซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์หรือโซเชียล เน็ตเวิร์คทั้งหลายจะถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางธุรกิจ เป็นการยกร่างกฎหมายของรัฐเพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็เป็นดาบ 2 คมที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ “เอสเอ็มอี”และโดยเฉพาะสินค้าโอทอปจากชุมชน ท้องถิ่น และสินค้าเกษตรทั้งหลายที่ภาครัฐกำลัง “ป้ำผีลุกปลุกผีนั่ง” อยู่
โดยก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างไทย กับนายแจ๊ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของเอสเอ็มอี และการพัฒนา “ไทยแลนด์ เนชั่นแนล อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม” มุ่งเสริมสร้างความรู้ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้แก่เอสเอ็มอีไทยจำนวนกว่า 30,000 ราย ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฐานรากกลุ่มชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีความพร้อม โดยคาดหวังว่าภายใน 1 ปีจะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับการพัฒนาทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย โดยบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ร่วมกับลาซาด้ากรุ๊ปเข้ามาช่วยอบรม
นอกจากนี้ทาง “อาลีบาบา” ยังจะให้การสนับสนุนอบรมบุคลากรจำนวน 10,000 รายเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีและให้การอบรมแก่ดิจิทัลโปรเฟสชั่นแนลจำนวน 1,000 ราย และผลักดันแอพพลิเคชั่นที่ผลิตขึ้นโดยกลุ่มนี้สู่ตลาดจีนผ่านอาลีบาบา รวมถึงส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้รับการฝึกอบรมเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และจะอบรมเทรนเนอร์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเอสเอ็มอีขายของในออนไลน์อีก 2,000 รายด้วย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ถึงกับเปิดเว็บไซต์ thaitrade.com และล่าสุด thaitrade.com Sook (Small Order OK) หวังช่วยผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีให้มีหน้าร้านโชว์และซื้อขายสินค่าในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น จนสามารถดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบกว่า 1.3 แสนราย มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 2,000 ล้านบาทไปแล้วในเวลานี้
ฟากฝั่งสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงกับประกาศยึดโมเดล “อาลีบาบา” เป็นโมเดลต้นแบบในการปั้นเว็บ “thailandfoodmarket” เป็นช่องทางให้เอสเอ็มอีกลุ่มอาหารไทยใช้ “อีคอมเมิร์ซ” เพิ่มยอดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร โดยนายวิเชียร ฤกษ์พัฒนกิจ ที่ปรึกษางานตรวจรับรอง งานจัดการความรู้องค์กรและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสถาบันอาหาร กล่าวว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9.7 แสนล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีจำนวนกว่า 1 แสนราย ก็คือการขาดช่องทางในการนำเสนอสินค้าให้กับ ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จากปัญหาดังกล่าวสถาบันอาหาร จึงร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมสร้างเว็บไซต์ www.thailandfoodmarket.com (ไทยแลนด์ฟู้ดมาร์เก็ต)ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการค้าขายสินค้าในกลุ่มอาหารให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านระบบออนไลน์หรือการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
หากทุกฝ่ายจะได้พิจารณาเหตุผลของกระทรวงการคลัง ต่อการยกร่างกฎหมายเพื่อขยายฐานภาษี ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นปี 2559 กำหนดให้เก็บจากการรับทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ ตราสารทางการเงิน ที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท
แม้กระทรวงการคลังจะยืนยันเหตุผลของการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้ถึง 5,000 ล้านบาท/ปี แต่ผ่านมาขวบปี กรมสรรพากร กระทรวงการคลังกลับยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้เลย
มาถึงกฎหมายภาษี “อีคอมเมิร์ซ”ที่กระทรวงการคลังหมายมั่นปั้นมือ จะใช้เป็นเครื่องมือจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการค้าออนไลน์ จากบริษัทยักษ์ข้ามชาติที่กุมชะตากรรมการค้าออนไลน์อยู่ในเวลานี้ ซึ่งไม่รู้กฎหมายไทยจะยื่นมือเข้าไปไล่เบี้ยได้แค่ไหน
โดยก่อนหน้านี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ออกมายอมรับ ถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ โดยระบุว่า จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรอบครอบ เพราะขณะนี้ มีประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียวที่จัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ซื้อสินค้า/บริการต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งให้กรมสรพากรโดยไม่ต้องไปเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือบริการอีก แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่เพราะขึ้นอยู่กับผู้ซื้อสินค้าจะแจ้งเสียภาษี หรือหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ให้สรรพากรหรือไม่
แต่เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้า หรือบริการเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งเข้ารัฐ ไม่เพียงจะสร้างภาระให้ประชาชนคนไทยที่จู่ๆกลับต้องมีภาระคอยจดแจ้ง หักภาษีนำส่งเงินเข้ารัฐซึ่งเป็นความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตแล้ว
ยังจะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่กำลังไต่ระดับกับการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์นั้นอาจต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ตามมาจนทำเอาตลาดอีคอมเมิร์ซที่ภาครัฐกำลังปลุกปั้นอยู่นี้อาจถึงขั้นระส่ำล้มครืนลงไปได้ทุกเวลา
ตอกย้ำนโยบาย Drifting Policy ต้นตอเศรษฐกิจไทย”ควงสว่าน”!!!