หากเอ่ยถึงราชธานีอันรุ่งเรืองในอดีต อย่าง “พระนครศรีอยุธยา” คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักเมืองหลวงในอดีตของเราชนชาติไทยเป็นแน่แท้ เพราะอยุธยาถือว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของเราคนไทย ที่ทำให้พวกเราลูกหลานชาวไทยมีทุกวันนี้ได้ จะว่าไปแล้วมีน้อยคนนักที่จะไม่เคยมาเยือนเมืองโบราณแห่งนี้ เพราะสถานทีดังกล่าวเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา รวมไปถึงวัดวาอารามที่เรียกได้ว่ามีมากมายหลายร้อยวัด แทรกตัวอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ที่คอยถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้กัน
ดังนั้นในฉบับนี้ “น้องสุขใจ” จึงอยากจะนำพาพี่ๆ มาเที่ยวอยุธยาเมืองเก่า มาเรียนรู้ประวัตติศาสตร์กัน โดยในครานี้จะขอพาพี่ๆ ไปเที่ยววัดโบราณแห่งหนึ่ง นามว่า “วัดพุทไธศวรรย์” ที่ใครที่มาเที่ยวอยุธยาต้องไม่พลาดอย่างแน่นอน ถ้าอย่างนั้นอย่ารีรอให้เสียเวลา ตาม “น้องสุขใจ” ไปเที่ยวกันเลยครับ….
สำหรับ วัดพุทไธศวรรย์ โบราณสถานอันทรงคุณค่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก อยู่ตรงกันข้ามกับปากคลองท่อหรือคลองฉะไกรใหญ่ โดยตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่ได้หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี เมื่อพ.ศ. 1896 บริเวณตำหนักเวียงเหล็ก ก่อนที่พระองค์จะทรงย้ายมาสร้างพระราชวังใหม่ใกล้หนองโสน (บึงพระราม) ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนเวียงเหล็กนั้นได้สถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์ อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานี
จากนั้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดแห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ตั้งทัพของพม่า เนื่องจากวัดตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง และในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายบริเวณวัดได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุที่สำคัญถึง 2 ครั้ง คือตอนที่กรมหลวงโยธาทิพทิวังคตและตอนที่สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทิวงคต หลังจากที่เสียกรุงก็ไม่มีหลักฐานทางด้านเอกสารใดกล่าวถึงวัดพุทไธศวรรย์อีก จนกระทั่ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์เสด็จออกไปชมเพนียดทรงพบว่าที่ด้านมุขของปรางค์ประธานของวัดนั้น มีพระรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ จึงกราบทูลรัชกาลที่ 1 พระองค์จึงโปรดให้อัญเชิญเทวรูป นั้นลงมากรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2327 และโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่ ซึ่งโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในอดีตบริเวณพื้นที่รอบวัดเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวต่างชาติ ทั้งชาวจีน มุสลิม โปรตุเกส ญวน และฝรั่งเศส ดังปรากฏร่องรอยมาจนปัจจุบัน วัดแห่งนี้มีการวางผังตามความนิยมของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ มีพระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังเป็นโบสถ์ โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกัน ด้วยความเก่าแก่ยาวนานนี้เอง ภายในวัดจึงมีสิ่งน่าชมมากมาย
โดยภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจนั่นคือ องค์ปรางค์ประธานสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ทรงปรางค์เป็นศิลปะแบบขอมผนัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือทิศใต้มีมณฑปสองหลัง ด้านข้างประดิษฐานรอยพระพุทธบาทปูนปั้นให้กราบสักการะได้ ที่บันไดทางขึ้นสู่ปรางค์ประธาน มีลายกระเบื้องเคลือบที่แต่งเป็นลายดอกไม้ซึ่งยังเหลือความงดงามให้ชม ในส่วนของกึ่งกลางปรางค์มีเจดีย์ขนาดเล็กซึ่งบรรจุพระบรมสาริกธาตุอยู่ภายใน บริเวณด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์
สำหรับใครที่ไปเที่ยวชมวัดแห่งนี้ คงเกิดความสงสัยไม่ใช่น้อยว่าทำไมปรางค์ประธานยังเห็นว่ามีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในส่วนของวิหารต่างๆ ภายในวัดพุทไธศวรรย์ก็จะมี พระวิหารหลวง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธาน ส่วนท้ายพระวิหารเชื่อมต่อเนื่องกับระเบียงคดที่ล้อมรอบปรางค์ประธาน ฐานนั้นประดับบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนบนที่เป็นหลังคาและผนังได้ชำรุดลงไป
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านข้างปรางค์ประธาน ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ศิลปะอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม นอกจากนั้นยังมี พระวิหารโถง ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหารหลวง เป็นพระวิหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในประดิษฐานพระประธาน และยังมี พระอุโบสถ ภายนอกล้อมรอบด้วยเสมาหินชนวนคู่ขนาดใหญ่ ประดับกระจก ตั้งอยู่บนฐานปูนปั้นรูปบัวกลุ่มส่วนล่างเป็นฐานสิงห์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ศิลปะอยุธยาทั้งสามองค์
และที่พลาดชมไม่ได้นั่นก็คือ ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นอาคารสองชั้น สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ฐานอาคารมีลักษณะโค้งแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย บางคนเชื่อว่าเป็นอิทธิพลศิลปะแบบอิสลามที่แพร่เข้ามาในอยุธยา ส่วนการเรียกอาคารหลังนี้ว่า “ตำหนัก” อาจเพราะเชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งภายในอาคารชั้นบน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาหลายเรื่องด้วยกัน กำหนดอายุราว พ.ศ. 2250 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในศาสนา ที่น่าสนใจคือ ภาพเล่าเรื่องราวของพระพุทธโฆษาจารย์ ครั้งเดินทางด้วยเรือสำเภาไปเมืองลังกา ตามเนื้อหาในเรื่อง “พุทธโฆษนิทาน” อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างอยุธยากับลังกา แม้ภาพส่วนมากจะลบเลือนไป แต่ก็มีที่ยังเห็นได้ชัดเจน เช่น ภาพรอยพระพุทธบาทในนัมมทานที อันเป็นที่สักการะของพญานาคและสัตว์น้ำ เป็นต้น
วัดพุทไธศวรรย์ จึงเป็นวัดที่ถือได้ว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานีในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงาม ทั้งยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้วัดแห่งนี้ยังมีความสมบูรณ์เป็นอย่างมากเหมาะสำหรับการเยี่ยมชมและการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมและเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี