การรถไฟฯฝันโม่แป้งรถไฟชานเมืองเอง

0
243
การรถไฟชงแผนบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตต่อ คนร.11 ต.ค.นี้ พร้อมบริหารเดินรถเองแต่ยังต้องให้รัฐจัดหาวงเงินลงทุนให้ งัดไม้เด็ดเคาะราคาค่าโดยสารเบื้องต้นแค่ 32 บาท เตรียมชงครม.ตั้งบริษัทเดินรถภายในธ.ค.นี้
นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารกิจการรถไฟ ได้มีมติเห็นชอบแผนงานและหลักการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงิน 93,950 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะนำแผน เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ในวันที่ 11 ต.ค.นี้  หาก ที่ประชุม คนร.มีมติเห็นชอบจะส่งเรื่องไปยัง คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป 
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-รังสิต  นั้น สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล คืบหน้าไปแล้ว 57.50% ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟ บางซื่อ-รังสิต รวม 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร คืบหน้าไปแล้ว 88.63% ขณะที่สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถคืบหน้าไปแล้ว 16.99%
แหล่งข่าวในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า หากรฟท.จะเป็นผู้บริหารการเดินรถเองในสัญญาที่ 3 จะต้องใช้เงินลงทุนราว 32,399 ล้านบาท เพราะตามมติครม.กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนงานโยธาโครงการ วงเงิน 61,551 ล้านบาท และให้ผู้บริหารการเดินรถลงทุนอีก  32,399 ล้านบาท  ดังนั้นในการรายงานแผนงานต่อหน้าที่ประชุมคนร.ครั้งนี้ การรถไฟฯ จะเสนอรายละเอียดแผนงานบริหารและจัดหาขบวนรถ โดยเน้นไปที่ความได้เปรียบด้านต้นทุนทางการเงิน อัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าเอกชนที่มุ่งเชิงพาณิชนย์ โดยเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนที่การรถไฟเสนอนั้นเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5% ขณะที่บริษัทเอกชนตั้งไว้ที่ 12%-14%  โดยเบื้องต้น รฟท.ได้คำนวณราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเฉลี่ย  32 บาทต่อเที่ยว โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเบื้องต้นราว 85,000 คนต่อวัน 
โครงการรถไฟสายสีแดงไม่เหมือนโครงการรถไฟฟ้าทั่วไปที่มีสถานีทุกๆ ระยะทาง 500-800 เมตร แต่รถไฟฟ้า สายสีแดงเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง มุ่งให้บริการกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ไม่สูงนัก ดังนั้นการคิดค่าโดยสารจึงกำหนดเอาไว้ในราคาที่ต่ำ ซึ่งหากรถไฟฯทำเอง จะสามารถควบคุมเพดานราคาค่าโดยสารได้ 
ส่วนเรื่องความคืบหน้าการตั้งบริษัทลูกด้านเดินรถนั้น รฟท.จะเสนอที่ประชุม คนร.ในครั้งนี้เช่นกัน หากผ่านความเห็นชอบ รฟท.จะเร่งชงแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกเข้า ครม.ภายในเดือน 2 เดือนนี้ ก่อนเริ่มก่อตั้งบริษัทใหม่ในต้นปี 2561 เบื้องต้นกำหนดทุนจดทะเบียนไว้ราว 3,000 ล้านบาท เพื่อเร่งสรรหาและอบรมบุคลากรประมาณ 2 ปี ให้สอดรับกับกำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2563