เลื่อนตอกเข็ม ‘รถไฟไทย-จีน’

0
216
    
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน  เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย(ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ทั้ง 2ฝ่ายได้ลงนามร่วมกันในสัญญา 2.1 การออกแบบรายละเอียดไปแล้ว คาดว่าจะมีการออกสัญญาเพื่อนับ 1 โครงการได้ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป   โดยระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. ที่ผ่านมาสภาวิศวกรไทยได้จัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการรถไฟไทยจีน รุ่นที่ 1 ไปแล้วจำนวน 76 คนที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน จากนั้นจะเริ่มลงนามในแบบก่อสร้าง 3.5 กม. และภายในกลางเดือน ต.ค. จะจัดส่งแบบการก่อสร้างให้การรถไฟฯนำแบบไปดำเนินการก่อสร้างต่อไป คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย.60 จากเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างและตอกเสาเข็มในเดือนตุลาคมนี้ 
ส่วนของความคืบหน้าการติดตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วน (แอ๊คชั่นแพลน) ปี 59 รวม20 โครงการ วงเงิน 1,383,938.89 ล้านบาทนั้น ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสีเหลืองช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ที่ลงนามในสัญญาก่อสร้างไปแล้วขณะนี้ได้เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาแล้ว บางส่วนยังอยู่ระหว่างการทำแผนจราจรร่วมกับตำรวจ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะแล้วเสร็จก่อนเริ่มต้นโครงการ  
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทาง 668 กิโลเมตร มูลค่ารวม 95,800 ล้านบาท   ซึ่งแบ่งออกเป็นงานโยธา 10 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญานั้น  การรถไฟได้เปิดประมูลงานโยธาไปแล้ว 9 สัญญา เหลือค้างอีก 1สัญญาคือสัญญาที่ 2 เส้นทางมาบกะเบา-จิระ ที่ผ่าเมืองนครราชสีมาซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแบบตามนโยบายรัฐบาล ส่วนงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 3สัญญาวงเงิน 17,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปีนี้  
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 95,000 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมได้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้วตามข้อสังเกตควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ไปแล้ว  ส่วนรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง คณะกรรมการกลั่นกรองของ รฟท.จะหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟเชื่อม 3 สนามบินในปลายเดือน ก.ย. นี้และจะเสนอให้คณะกรรมการอีอีซ ีในเดือน ต.ค.นี้