นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งสินค้า และมีแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศไทยในการเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 โดยสถานีขนส่งสินค้าแต่ละแห่งจะทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้า เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน (Node) ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตและฐานการส่งออก รองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนสู่ระบบราง รวมถึงรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล
ด้านการเชื่อมระบบการขนส่งผ่านแดนสู่ภูมิภาคอาเซียนนั้น ขบ.มีแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก 8 แห่ง และแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดน 11 แห่ง ซึ่งภายในสถานีขนส่งสินค้าแต่ละแห่ง ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าต่าง ๆ เช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า (Distribution Center) คลังสินค้า (Warehouse) ลานเก็บตู้สินค้า (Container Yard) ลานเปลี่ยนหัวลาก – หางพ่วง พื้นที่เขตปลอดอากรสำหรับสถานีขนส่งสินค้าในจังหวัดชายแดน เป็นต้น รวมถึงดำเนินการควบคู่กับการยกระดับศักยภาพสถานีขนส่งสินค้าที่ให้บริการแล้ว 3 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมเป็น 22 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับแผนเปิดให้บริการสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 19 แห่ง ในปี 2566 ดังนี้
– โครงการนำร่อง 2 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย เริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2560 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2563 และศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม จะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 และเปิดให้บริการในปี 2564
– สถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดน 9 แห่ง (เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา และนราธิวาส) ดำเนินการวางผังและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ เตรียมการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2561 และมีแผนเปิดให้บริการในปี 2565
– สถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก 8 แห่ง (เชียงใหม่, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี) ดำเนินการวางผังและออกแบบรายละเอียดในปี 2561 และมีแผนเปิดให้บริการในปี 2566
ทั้งนี้ ขบ. ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 19 แห่ง ในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน