ถ้อยแถลงของนายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ที่ได้รับมอบหมายจาก นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการตีความกฎหมายศุลกากรในการคืนภาษีจำนวน 3,000 ล้านของบริษัทเชฟรอนที่ส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ยังแท่นขุดเจาะในเขตพื้นที่สัมปทานทางทะเล
โดยระบุว่า กระทวงการคลังจะทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความกรณีดังกล่าวใหม่อีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังจะประชุมร่วม 3 ฝ่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ตามข้อแนะนำคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีความเห็นร่วมกันว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทเชฟรอนไปยังแท่นขุดเจาะในทะเลในเขตพื้นท่ีสัมปทานนั้น ไม่ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามที่กรมศุลกากรได้วินิจฉัยตีความมาก่อนหน้า
หากเป็นไปดังนี้ เชฟรอนย่อมไม่สามารถขอคืนภาษีอากรจากรัฐได้ และยังส่งผลให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะของเชฟรอนที่กรมศุลกากรวางแนวปฏิบัติให้ใช้ใบขนส่งออกไม่สามารถทำได้อีก
แต่กระนั้นฝ่ายกฎหมายกรมศุลกากร ยังคงยืนยันความเห็นเดิมที่อ้างว่า การส่งน้ำมันของเชฟรอนไปใช้ยังแท่นขุดเจาะในทะเลที่อยู่ห่างจากชายฝั่ง 60 ไมล์ทะเลถือเป็นการส่งออกที่ไม่ต้องเสียภาษีเพราะอยู่นอกอาณาเขตเขต 12 ไมล์ทะเลที่กรมศุลกากรถือว่าเป็นการส่งออกของไปนอกราชอาณาจักรตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 ดังนั้น เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่มีความชัดเจนแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จึงจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กระทรวงการคลัง“ดิ้นพล่าน”ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีภาษี “เชฟรอน” ที่ส่งน้ำมันไปขายยังแท่นขุดเจาะในทะเลที่กรมศุลกากรตีความว่าเป็นการส่งออกไปนอกเขตอาณาจักร ที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่สิ่งที่คลังคงต้องตอบคำถามสังคมก็คือ
แล้วกรณีของปตท.และปตท.สผ.ที่คลังถือหุ้นใหญ่มีการปฏิบัติบนพื้นฐานเดียวกันด้วยหรือไม่ การส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันของปตท.สผ.ไปยังแท่นขุดเจาะในทะเลบริเวณเดียวกันกับ“เชฟรอน”นั้นบริษัทปตท.สผ. ได้รับการยกเว้นภาษีอากรเช่นเดียวกับเชฟรอนหรือไม่? มีการขอคืนภาษีเช่นเดียวกับเชฟรอนด้วยหรือไม่?
ย้อนรอยคดีพิพาทภาษี “เชฟรอน”
ข้อพิพาททางภาษีระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท เชฟรอน(ไทย) จำกัดนั้น คาราคาซังมากว่า 5 ปีนับตั้งแต่ปลายปี 2553 หลังบริษัทเชฟรอนขนน้ำมันจากโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ไปขายให้บริษัท เชฟรอน สผ. เพื่อนำไปใช้ยังแท่นขุดเจาะกลางทะเล ที่บริษัทอ้างว่าตั้งอยู่ห่างจากไหล่ทวีปอ่าวไทย 60 ไมล์ทะเล กรณีจึงมีปัญหาว่าถือเป็นการขายน้ำมันในประเทศที่ต้องเสียภาษีแวต ภาษีสรรพสามิตและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่ หรือเป็นการส่งออกน้ำมันที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีอากร
2 พฤษภาคม 2554 นายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากรได้ลงนามหนังสือเลขที่ กค 0503/4689 แจ้งผลการพิจารณาไปยังบริษัทเชฟรอนว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งออกตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 เพราะอยู่นอกเขตอาณาจักร 12 ไมล์ทะเลที่กรมศุลกากรถือว่าเป็นการส่งออกสินค้าจึงให้ดำเนินพิธีการศุลกากรในรูปแบบการส่งออกที่ไม่ต้องชำระภาษีอากรและได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 แม้สำนักศุลกากรสงขลาและด่านศุลกากรมาบตาพุดจะมีความเห็นแย้งก็ตาม
ต่อมาสำนักศุลกากรสงขลามีการตรวจพบและจับกุมเรือสนับสนุน Supply Boat ของเชฟรอนที่อ้างว่าบรรทุกน้ำมันส่งออกจำนวน 8 ลำกลับเข้ามาขายชายฝั่ง จนทำให้เกิดกรณีพิพาทขึ้นเพราะกรมศุลกากรถือว่าเข้าข่ายการค้าชายฝั่งจึงตรวจยึดเรือและน้ำมันทั้งหมด และแนะนำให้บริษัทดำเนินการพิธีศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งไปจนกว่าจะมีข้อยุติ โดยบริษัทเองก็ยอมปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว และได้ขอกลับมาทำใบขนสินค้าขาออกอีกรอบในช่วงปลายปี 2557 ในสมัย นายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นอธิบดีศุลกากรโดยบริษัทมีหนังสือสอบถามความชัดเจนต่อการปฏิบัติพิธีการศุลกากรกรณีผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าว
นัยว่าเฉพาะช่วงที่บริษัทดำเนินการใบขนในรูปแบบการค้าชายฝั่งตามคำแนะนำของด่านศุลกากรมาบตาพุดและสงขลาจำนวน 323 ใบขน ปริมาณน่้ำมัน 693 ล้านลิตร คิดเป็นเม็ดเงินที่บริษัทขอคืนแวตและภาษีสรรพสามิตน้ำมันและเงินสมทบเข้้ากองทุน รวมกว่า 3,175 ล้านบาท
9 เมษา 2558 นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายปฏิบัติราชการแทนอธิบดี มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0503/5351 ตอบข้อหารือไปยังเชฟรอนว่าการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงจากราขอาณาจักรไทยไปยังแท่นผลิตปิโตรเลียมในท้องทะเล ระยะห่างจากฝั่งเกิน 12 ไมล์ทะเลขึ้นไปถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในความหมายของการค้าชายฝั่ง ตามมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ศุลกากรปี 2569 กรณีจึงไม่มีการกำหนดพิธีการศุลกากรไว้ จึงให้บริษัทปฏิบัติตามพิธีการนำเข้าและพิธีการส่งออกแทน แต่สำนักศุลกากรสงขลา และด่านศุลกากรมาบตาพุด ไม่เห็นด้วยยังคงยืนกรานให้บริษัทดำเนินพิธีการศุลกากรในรูปการค้าชายฝั่งต่อไป จนกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นมาอีกครั้ง
31 สิงหาคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ทำบันทึกข้อความด่วนที่สุดที่ กค 0503/13044 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 59 ถึงปลัดกระทรวงการคลังแจ้งมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้กรมศุลกากรหารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และมีมติร่วมกันว่า การนำส่งสินค้าไปใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ถือว่าอยู่ในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ดังนั้น กรณีเชฟรอน ที่ขนน้ำมันดีเซลไปขายที่แท่นผลิตและขุดเจาะย่อมเข้าข่ายการค้าชายฝั่ง ไม่ถือเป็นการส่งออก จึงขอให้กระทรวงการคลัง สั่งให้กรมสรรพสามิตชะลอการคืนภาษีแก่บริษัท และให้บริษัทเชฟรอนกลับมาดำเนินพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งเช่นเดิม
แต่กระนั้น สำนักกฎหมายศุลกากร กลับทำหนังสือลงวันที่ 9 กันยายน 2559 ไปยังบริษัทเชฟรอนว่าแม้จะมีมติร่วม 3 ฝ่ายให้เชฟรอนต้องปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรแบบการค้าชายฝั่ง แต่มติดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีผลผูกพัน จนกว่ากรมศุลกากรจะมีข้อยุติและมีหนังสือแจ้งบริษัทอย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้จึงให้บริษัทปฏิบัติตามแบบพิธีการศุลกากรในรูปแบบของการส่งออกไปจนกว่ากรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งเป็นอย่างอื่น
ความสับสนต่อกรณีการตีความการจำหน่ายน้ำมันไปยังแท่นผลิตและขุดเจาะกลางทะเลที่ว่า เข้าข่ายการส่งออก หรือการค้าชายฝั่ง ที่อยู่ในเขตราชอาณาจักรไทยหรือไม่นั้น กลายเป็นความขัดแย้ง ระหว่างปลัดกระทรวงการคลัง(นายสมชัย สัจจพงษ์) และ อธิบดีกรมศุลกากร อย่างเห็นได้ชัด
สตง.สั่งเชือดภาษี-สอบบิ๊กคลังกราวรูด!
สำนักงานตรวจการแผ่นดิน (สตง.) โดยนายพิศิษฐ ลีลาวชิโรภาส ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.คลัง แจ้งให้ทราบว่าที่ผ่านมากรมศุลกากรอาจวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง แม้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จะไม่ได้กำหนดนิยามคำว่าราชอาณาจักรเอาไว้ แต่ประมวลรัษฎากรมาตรา 2 ได้กำหนดนิยามดังกล่าวเอาไว้ชัดแจ้ง ครอบคลุมไปถึงไหล่ทวีป กรมศุลกากรจึงควรนำบทบัญญัติกฎหมายที่ใกล้เคียงมาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
ประกอบกับศาลฎีกา เคยมีคำพิพากษาที่ 2899/2557 ตัดสินให้กรมสรรพากรชนะคดีกรณีบริษัทเรือขนส่งน้ำมันไปขายที่แท่นจุดเจาะ 6 แห่ง ถือเป็นการขายในราชอาณาจักรมาแล้ว ดังนั้นเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 ให้ รมว.คลังสั่งการให้กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร เรียกเก็บอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากบริษัทเชฟรอน พร้อมทั้งสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย
ถึงจุดนี้ก็ทำเอากระทรวงการคลังปริแตก เพราะหากพิจารณาตามนัยหนังสือของสตง. และข้อสรุปของที่ประชุมร่วม 3 หน่วยงานที่ได้ดำเนินการตามข้อแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ถือว่าการจำหน่ายน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะในทะเลถือเป็นการขายในราชอาณาจักร ไม่ใช่การส่งออกแล้ว การจำหน่ายน้ำมันของเชฟรอนที่ดำเนินการมาตั่งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันย่อมเข้าข่ายต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เงินสมทบเข้ากองทุน และยังต้องจ่ายเบี้ยปรับเข้ารัฐมากกว่า 5,000 ล้านบาท
และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องคือปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายศุลกากร ที่มีส่วนในการทำหนังสือตอบกลับให้เชฟรอนปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรว่าด้วยการส่งออกนั้นยังต้องถูกสอบสวนเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญาตามมาทันที ทำให้เรื่องดังกล่าวคาราคาซังอยู่ในมือของ รมว.คลังชนิดกลืนไม่เข้า คายไม่ออก
บทสรุปกรณีภาษีร้อน“เชฟรอน”
1.เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีมติของที่ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ยืนยันแนวทางปฏิบัติของกรมศุลกากรต่อกรณีการขายน้ำมันของเชฟรอนไปยังแท่นขุดเจาะในทะเลอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยังคงมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีหนังสือสั่งการย้อนแย้งและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนอย่างชัดแจ้ง จึงไม่แปลกที่สตง.จะมีหนังสือย้อนแย้งและใช้อำนาจตาม ม.39 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ สั่งให้กระทรวงการคลังตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง และอาญา
- ที่สำคัญหากการกระทำของเชฟรอนในการขายน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะกลางทะเล เป็นเรื่องการส่งออก ไม่ใช่เป็นการขายในราชอาณาจักรดังที่อดีตอธิบดีกรมศุลกากรวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ย่อมมีคำถามตามมาว่าแล้วเหตุใดบริษัท ปตท.ที่เป็นบริษัทน้ำมันของรัฐ และมี ปตท.สผ. ที่มีฐานผลิตขุดเจาะอยู่บริเวณเดียวกัน(โครงการบงกชเหนือ-ใต้ แหล่งต้นสัก แหล่งต้นนกยูง แหล่งพิกุล ฯลฯ) จึงไม่เคยใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีหรือยกเว้นภาษีส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันแม้แต่น้อย
- จากการตรวจสอบไปยัง บริษัทปตท.และปตท.สผ.นั้นพบว่า มีการดำเนินธุรกรรมการส่งน้ำมันไปใช้ยังแท่นขุดเจาะในพื้นท่ีสัมปทานนี้ ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยถือเป็นการค้าชายฝ่ังทางทะเลตามปกติ แต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีแวต ภาษีสรรพสามิตและส่งเงินสมทบกองทุนน้ำมันตามกฏหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ยังแท่นขุดเจาะในทะเลที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
แต่ในส่วนของบริษัทเชฟรอนนั้น กลับไม่ยอมดำเนินการตามหลักเกณฎ์ดังกล่าว กลับไปใช้ช่องทางการดำเนินใบขนในรูปของการส่งออกตาม พ.ร.บ.ศุลกากรปี 2469 แทน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ใช้วิธีการดำเนินใบขนในรูปแบบการค้าชายฝั่งก่อนจะทำเรื่องขอคืนภาษีแวต ภาษีสรรพสามิตและเงินสมทบกองทุนน้ำมันในภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาในการต่ีความข้ึน เนื่องจากหากมีการตีความว่าเป็นการส่งออกตามที่สำนักกฎหมายศุลกากรยึดเป็นแนวปฏิบัติก็อาจต้องคืนภาษีให้กับบริษัทน้ำมันอื่น ๆ ด้วย
- หากจะพิจารณาถึงสัมปทานเชฟรอน ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอก เป็นสัมปทานขุดเจาะน้ำมันที่ได้จากรัฐบาลไทย แล้วเหตุใด กรมศุลกากรจึงมาตีความว่า เป็นการส่งออกน้ำมันไปใช้กลางทะเล หรือนอกอาณาเขตประเทศไทย ในเมื่อรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นสัมปทานขุดเจาะผลิตน้ำมันที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 จึงย่อมอยู่ในอาณาจักรไทย
เป็นจุดตายที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงและกระทรวงการคลังนั่งไม่ติด