ชำแหละภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ หายนะครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทย?

0
4065

1 ในภารกิจที่รัฐบาลปฏิรูป คสช. ประกาศให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ก็คือการ ยกเครื่องปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้กฎหมายก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นกลไกที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ

1 ในกฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้กำลังโม่แป้งอยู่ก็คือ “ร่าง  พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  พ.ศ. 2560” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปตั้งแต่กลางปี 2559 ก่อนจะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างเพิ่มเติม (มติ ครม. วันที่ 23 มี.ค. 2560) ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3

โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังผู้ยกร่างฯ คาดว่าจะดีเดย์บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562

ทุกฝ่ายได้สดับตรับฟังสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงคลังชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงยกร่าง กม.ฉบับนี้ที่จะมาทดแทน “พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475และ ภาษีบำรุงท้องที่  พ.ศ. 2508ที่ใช้กันมานานทำให้มีข้อจำกัด ขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ พร้อมยืนยันอย่างหนักแน่น ไม่ได้มีเป้าหมายใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการรีดภาษีเข้ารัฐ แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายการถือครองที่ดินและเพื่อให้มีการนำที่ดินรกร้างมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ

แต่เมื่อหอการค้าไทย-สมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง  สภาหอการค้าไทย ร่วมกันคลี่เนื้อหาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ กลับพบว่า กฎหมายภาษีที่ดินใหม่ฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั่วประเทศ!!!  

ข้ออ้างที่กระทรวงการคลังยืนยันว่า ประชาชนคนไทยกว่า 90% จะไม่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ข้อเท็จจริงกลับเป็น “หนังคนละม้วน” ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม  และแม้แต่ประชาชนโดยทั่วไปล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จนอาจกล่าวได้ว่าอาจนำมาซึ่ง หายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ !!!

                                                        ********

คลี่เนื้อหา  กม.ภาษีที่ดินฯ 2560

ร่าง กม.ภาษีที่ดินฯ ใหม่ ที่คลังมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการแยกประเภทการใช้ที่ดิน 4 ประเภท และแก้ไขเพดานอัตราภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานภาษี 0.2% และยกเว้นเก็บภาษีสำหรับที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท 2. ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานภาษี 0.5% เว้นภาษีบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน ส่วนบ้านหลังที่ 2 ที่มีมูลค่าเกิน 5 ล้านบาทกำหนดอัตราภาษี ตั้งแต่ 0.03-0.30% 3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ กำหนดเพดานภาษี 2% จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้าน เก็บ 0.3% ไปจนถึง 1.5% สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3,000 ล้านขึ้นไป และ 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจัดเก็บภาษี 2%ใน 3 ปีแรก และปรับเพิ่ม 0.5% ในทุก 3 ปีสูงสุดไม่เกิน 5%

 

แม้รัฐจะมีการแยกประเภทการใช้ที่ดิน แต่ด้วยโครงสร้างอัตราภาษีที่แตกต่างกันอย่างมากถึง 40-100 เท่า โดยเฉพาะระหว่างที่ดินเกษตรกรรม (เพดาน 0.2%) กับที่ดินเพื่อการพาณิชย์ที่กำหนดเพดานภาษีตั้งแต่  0.3-2% และที่รกร้างว่างเปล่า (ภาษี 2-5%) เมื่อประกอบกับการกำหนดนิยามการใช้ที่ดินที่ขาดความชัดเจน ย่อมก่อให้เกิดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมาย ทุกฝ่ายจึงหวั่นเกรงว่ามันจะกลายเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตคร้ัง “มโหฬาร”

แค่การแยกแยะระหว่างที่ดินรกร้าง และทำการเกษตรที่ภาษีแตกต่างกันลิบลับเป็น 100 เท่า หรือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่มีการทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่ ก็เชื่อแน่ว่าจะกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจที่สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดทุจริตตามมาแน่

 ร้านค้า ปั๊ม อพาร์ทเมนท์ในเมืองจ่อสูญพันธุ์

แน่นอน! หากพิจารณาเนื้อหา กม.โดยผิวเผิน ภาษีที่ดินใหม่คงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยทั่วไป เพราะส่วนใหญ่ 90% ถือครองที่ดินที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 20-50 ล้านที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว มีเพียงส่วนน้อยราว 10% เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบ

แต่ในข้อเท็จจริง หากเป็นที่ดินสิ่งปลูกสร้างใจกลางเมืองในย่านธุรกิจ อย่าง สีลม สุรวงศ์ เจริญกรุง เยาวราช หรือสุขุมวิท หรือตามหัวเมืองใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยานั้น พื้นที่ดินแค่ 100-200 ตร.วา ในย่านใจกลางเมืองเหล่านี้ก็มีมูลค่าเป็น 50-100 ล้านไปแล้ว มีสิทธิ์โดนภาษีเต็มๆ

ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่อย่างหนัก ก็คือวิสาหกิจขนาดย่อม SME ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เปราะบางอยู่แล้ว โดยเฉพาะกิจการที่ใช้ที่ดินมาก แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน-แก๊ส คาร์แคร์ ตลาดสด หอพัก อพาร์ทเมนต์ราคาถูก สถานที่จอดรถ โรงเรียน สถานศึกษาเอกชน หรือกิจการห้องแถว ที่เดิมไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือเสียน้อย แต่เมื่อต้องถูกประเมินและเสียภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่ รายได้จากค่าเช่าและการประกอบกิจการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้เหล่านี้จะไม่คุ้มภาระภาษีที่ต้องแบกรับ สุดท้ายอาจต้องเลือกปิดกิจการหรือขายที่ดินออกไป

ตัวอย่างลุงตู่มีที่แปลงเล็กๆ 200 ตร.วา แถวสีลม-ประตูน้ำ สุขุมวิท ประเมินแค่วาละ 5 แสน ก็ปาเข้าไป 100 ล้านแล้ว หากเจ้าตัวอยู่อาศัยด้วยที่ว่างก็ให้เขาเช่าจอดรถ ทำคาร์แคร์หรือเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเล็กๆน้อยๆ มีรายได้จากค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท ตกปีละ 360,000 บาท ถ้ากม.ถือว่าคุณอยู่อาศัยเก็บภาษี 0.1% ปีละ 100,000 บาทค่าเช่าเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ก็อาจพออยู่ได้ แต่หาก กทม.ที่เป็นคนประเมินถือว่าทำธุรกิจเรียกเก็บ 0.9%ของมูลค่าทรัพย์สินทีนี้หล่ะงานเข้าแน่เพราะภาระภาษีจะพุ่งจากปีละ 100,000 เป็น 900,000-1 ล้านบาท คุณตายละ

ที่ตาบอด -ริมน้ำ-แก้มลิง…โดนหางเลขถ้วนหน้า!

แม้แต่ ที่ตาบอด ที่ดินที่ถูกปิดทางเข้า-ออก ไม่สามารถจะขายออกไปได้ขายได้ยาก หรือที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์ อยู่ในแนวเขตเวนคืน อยู่ในเขตผังเมืองที่ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาคงก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอน เพราะเมื่อถูกประเมินภาษีตามอัตราใหม่เจ้าของไม่มีทางจะแบกรับภาระได้อยู่แล้ว จะขายก็ไม่ได้โอนก็ไม่ได้ แต่กลับถูกเรียกเก็บภาษีรายปีโดยไม่มีข้อยกเว้น

อีกกลุ่มที่จะโดนหางเลขเต็มๆ ก็คือ ที่ดินริมเเม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำสายอื่นๆ บ่อปลา หรือพื้นที่รองรับน้ำตลอดริมน้ำเจ้าพระยาที่ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ยิ่งหากปล่อยทิ้งร้างเอาไว้เพราะทำเกษตรอะไร  ไม่ได้ เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำหลาก น้ำท่วมด้วยแล้ว เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาที่ดินเหล่านี้ จะต้องถูกประเมิน ตีมูลค่าและเรียกเก็บภาษีตามประเภทใช้งาน ทำให้ที่ดินริมน้ำ ที่ดินอนุรักษ์หรือที่ดินรับน้ำเหล่านี้ที่ทำประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้จะไม่อยู่ในสภาพที่จะจ่ายภาษีที่ดินได้ถูกบีบให้ต้องขายออกไป

แม้ที่ดินถูกรอนสิทธิ์ก็ไม่รอด!  

ส่วนที่ดินที่เจ้าของทำสัญญาปล่อยเช่าระยะยาวออกไป ก็มีสิทธิ์โดนหางเลขจนอาจก่อให้เกิดปัญหาฟ้องร้องกันตามมา เพราะจะกลายเป็นข้อถกเถียงใครจะเป็นผู้จ่ายภาษีหากไม่มีข้อตกลงกันเอาไว้แต่ต้น แต่กฎหมายนั้นกำหนดให้เจ้าของที่ดินเป็นผู้จ่าย ซึ่งหากสัญญาเช่าที่ทำไว้ไม่คุ้มค่าภาษีที่ต้องแบกรับ คงได้เกิดความโกลาหลแน่

หรือกรณีที่ดินรกร้างที่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าปีที่ 1-3 ในอัตรา 2% และปรับขึ้น 0.5% ในทุก 3 ปี เท่ากับบีบให้เจ้าของเร่งทำผลประโยชน์ ปลูกพืชผลต่างๆ จนผลผลิตล้นตลาด สุดท้ายก็อาจสร้างปัญหาราคาตกต่ำตามมาอีก!

“ในภาพรวมหากที่ดินเหล่านี้ต้องถูกบังคับขายออกมาพร้อมๆ กัน หลังจากเจ้าของเดิมไม่สามารถแบกรับภาระภาษีได้ อะไรจะเกิดขึ้น ราคาที่ดินอสังหาฯ ในบ้านเราจะไหลรูดทั้งหมด กระเทือนไปถึงสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบ”

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์-ทีวีโดน 2 เด้ง?

เช่นเดียวกับโรงงาน โรงพิมพ์ ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ที่มีเครื่องจักรทันสมัย มูลค่ารวม 500-600 ล้านบาท ก็ต้องแบกภาระภาษีตัวนี้ปีละ 10-12 ล้านบาท รวมถึงบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 เพื่อลงทุนหรือเป็นบ้านพักผ่อน คนจะชะลอซื้อ หรือที่มีอยู่ก็เร่งขายออกมาจนกระทั่งกระทบกับการขายบ้านใหม่

แม้แต่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ จะนสพ.ไทยรัฐ มติชน หรือเดลินิวส์เองก็เถอะ เฉพาะที่ตั้ง สนง. เนื้อที่ราว 20- 50 ไร่ หากคิดมูลค่าที่ดินคร่าวๆ แค่วาละ 500,000 บาท ก็มีมูลค่ามากกว่า 5,000 -10,000 ล้านบาทแล้ว และต้องเสียภาษีที่ดินใหม่ในอัตรา 1.5% หรือตกปีละกว่า 100- 150 ล้านบาทขึ้นไป

ในท่ามกลางวิกฤติสื่อทั้งทีวี วิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ที่แทบจะเอาตัวไม่รอดจากการไหลบ่าเข้ามาของโลกดิจิทัลนั้น ธุรกิจเหล่านี้ไม่ต้องทำอะไรก็หืดจับอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอพิษภาษีที่ดินใหม่นี้เข้าไปอีก ผู้ประกอบการจะอยู่อย่างไร?”

“กูรูอสังหาฯ” อัดรัฐไม่เคยสอบถาม

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ในฐานะกรรมการบริหารและประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกมานั้น โดยส่วนตัว ไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ไม่เห็นด้วยในรายละเอียดที่มีบางข้อที่คณะทำงานอาจไม่ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

“ประเด็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ทั้งในส่วนอัตราเรียกเก็บ และเพดานที่แตกต่างกันตั้งแต่ 2-5% ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 40-100% นั้น เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือ อปท.ใช้ดุลยพินิจในการตีความว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่รกร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมานั่นก็คือ เขาจะจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้เท่าไหร่ก็ได้”

ในเรื่องของการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ทำร่างกฎหมายนี้ยังไม่คิดรอบคอบ เวลาร่างไม่เคยชวนคนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในอาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือเลย คิดอย่างเดียวที่จะให้กฎหมายนี้ออกมาให้ทันในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่พวกนี้ไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่จะตามมาในภายหลังว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง  เคยถามกันบ้างไหมใครจะแบกภาระ  เคยถามคนอื่นบ้างไหม ถามความเดือดร้อนคนอื่นบ้างไหม สุดท้ายผู้ประกอบการรากหญ้านั่นแหละที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพวกผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ด้วย

ถือครองที่ดินมาก…เฉียดคุกได้ทุกเมื่อ?

สิ่งที่ผู้คนโดยทั่วไปประหลาดใจมากและไม่รู้มาก่อนก็คือ กฎหมายนี้มีกำหนดโทษจำคุก! ในกรณีจ่ายช้าหรือไม่ยอมจ่ายภาษี ซึ่งนั่นคือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้ผู้คน ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า ไม่เพียงจะถูกบังคับให้ต้องจ่ายภาษีใหม่อย่างไม่เป็นธรรม ผู้ที่ถือครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอยู่ยังมีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีอาญาเอาได้ทุกเมื่อ 

แปลให้ง่ายก็คือ การครอบครองที่ดินนับจากนี้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยชีวิตต่างแขวนอยู่บนเส้นด้าย มีสิทธิ์ติดคุกเอาได้ทุกเมื่อ เพราะกฎหมายใหม่ให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งประเมิน เรียกเก็บภาษี โดยให้ถือเป็นรายได้ท้องถิ่นทั้งยังให้อำนาจ อปท. ยึด อายัด และขายทอดตลาดได้เองอีกด้วย

ที่สำคัญยังกำหนดระวางโทษทางอาญา กรณีไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของเจ้าพนักงาน  ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งโทษจำ-ปรับ  หรือกรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่แจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการโอนย้ายทรัพย์สินให้บุคคลอื่นเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นสั่งยึด อายัดเอาไว้ ซึ่งทั้งทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

รวมทั้งกรณีที่ หากเจ้าของที่ดินแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คดีหลีกเลี่ยงภาษีจะมีโทษทางอาญาพ่วงด้วย และน่าจะเป็นจุดอันตรายที่สุดของกฎหมายนี้

เพราะนิยามของการแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนั้น เป็นเรื่องครอบจักรวาลที่อาจเกิดกับเจ้าของที่ดินเอาได้ทุกเมื่อ แค่คุณไปแจ้งเสียภาษีไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ก็อาจมีโทษจำคุกรอไว้แล้ว

ไล่ตามเงา แลนด์ลอร์ด” 

กับข้ออ้างกระทรวงการคลังต่อการยกร่างภาษีที่ดินฯ ใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ กระจายการถือครองที่ดิน สกัดนายทุนแลนด์ลอร์ดทั้งหลายแหล่ และเพื่อให้มีการนำเอาที่ดินรกร้างว่างเปล่านับล้านไร่ มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท มาสร้างประโยชน์เพิ่มมูลค่า (Value)ในทางเศรษฐกิจทำให้ต้องเร่งผลักดันกฎหมายนี้

แต่กระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยเฉพาะ ผู้ยกร่าง กม.นี้ กลับไม่เคยย้อนไปดูบทเรียนความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายภาษีมรดกที่คลัง-สนช.ทำคลอดมาก่อนหน้า เพราะกว่าขวบปีที่กระทรวงการคลังบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว หน่วยงานรัฐอย่างสรรพากรเองก็ออกมายอมรับเองว่า ไม่สามารถจะไล่เบี้ยรีดภาษีมรดกได้ หรือได้น้อยมากไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ครั้งนี้เช่นกัน ในช่วงที่กระทรวงคลังยกร่างกฎหมายฉบับนี้ และเปิดให้มีการจัดตั้งนิติบุคลรับโอนที่ดินเพื่อรอการ      พัฒนาได้โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน และยกเว้นภาษีเงินได้ 3-5 ปีนั้น ก็มีกระแสข่าวสะพัดกลุ่ม     เจ้าสัวแลนด์ลอร์ดทั้งหลายแห่ตั้งบริษัทลูกกันเป็นดอกเห็ดนับ 100 บริษัท เพื่อรับมือกับกฎหมายใหม่ และเพื่อ     จัดพอร์ตที่ดินตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุด ก่อนที่คลังจะปิดโครงการดังกล่าวไป

 

 

 

 

กลายเป็นว่ากฎหมายใหม่นี้ เข้าทางนายทุนแลนด์ลอร์ดที่เตรียมเก็บตุนของถูกที่จะถูกเลหลังออก จากการที่เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายต้องถูกบีบ (Force) ให้ต้องขายที่ดินออกมา เพราะไม่สามารถแบกรับภาระภาษีจากกฎหมายใหม่ได้

ในต่างประเทศนั้น รัฐบาลเขาจะมีแลนด์แบงก์เข้ามาช่วยซื้ออสังหาฯ ที่เจ้าของไม่สามารถจ่ายภาษีเองได้ ไม่ให้เจ้าของถูกบีบซื้อหรือถูกเอาเปรียบ แต่เมืองไทยเรานั้นกลับปราศจากกลไกเหล่านี้ จึงกลายเป็นว่ากฎหมายนี้ เปิดช่องให้นายทุนใหญ่เตรียมกว้านซื้อที่ดินราคาถูก

ร้องรัฐทบทวน -ชะลอบังคับใช้

ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ร้องขอต่อรัฐเพื่อขอให้ทบทวน และชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนนั้น ก็เพื่อให้รัฐได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในวงกว้างให้รอบคอบ อย่างน้อยรัฐควรกำหนดนิยามการแบ่งประเภทการใช้ที่ดินให้ชัดเจน เพื่อขจัดการให้เข้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจหรือการตีความอันเป็นช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตตามมา

นอกจากนี้ควรกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีให้เป็นอัตราเดียว (Fixed Rate) มีมาตรการรองรับกรณีที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากสภาพที่จำเป็น ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วยสภาพการณ์ของที่ดินเอง หรือที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์ ที่ดินตาบอด หรืออยู่ในเขตข้อกำหนดผังเมืองที่ควรต้องได้รับการลดหย่อน เพื่อสะดวกในการจัดเก็บภาษีและเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของ    เจ้าหน้าที่  รวมทั้งควรตัดโทษทางอาญาออกไป เพราะเป็นดาบ 2 คม ที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์เอาได้ทุกเมื่อ

ก่อนหน้านี้หลายกฎหมายที่รัฐ และ สนช. ทำคลอดออกไป ไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่อง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2560 ที่ทำเอาวิถีชีวิตของผู้คน และชุมชนริมน้ำทั่วประเทศปั่นป่วน จนนายกฯ ต้องงัด ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 32/2560 ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนไปก่อนหน้า

หรือกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการทำงานของแรงงานต่างด้าว ของกระทรวงแรงงาน ที่ออกมาจนทำให้แรงงานเพื่อนบ้านระส่ำจ่อจะหอบผ้าผ่อนหนีกลับประเทศกันหมด สุดท้ายนายกฯ ก็ต้องงัด  ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในบางมาตราเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับโรงงาน อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วประเทศ!

กรณี พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย และมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวข้างต้นนั้น ยังนับว่าโชคดีที่นายกฯและหัวน้า คสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จตาม ม.44 อยู่ในมือ ทำให้เมื่อเกิดปัญหา ยังคงสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ีมีอยู่ออกประกาศหัวหน้า คสช. สกัดวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ทัน” 

แต่กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่กระทรวงการคลังจะใช้บังคับในปี 2562 นั้น  กว่าที่กฎหมายดังกล่าวจะเห็นผลกระทบจริงก็ปาเข้าไปในช่วงปี  2563-2564  ไปแล้ว ถึงเวลานั้นทั้งรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาและนายกฯ จะยังมีอำนาจพิเศษใดอยู่ในมือที่จะสกัดกั้นและยับยั้งหายนะที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจได้หรือ?   

กลั่นกรองและพิจารณาทบทวนให้ถ้วนถี่ก่อนเศรษฐกิจไทยจะกู่ไม่กลับจะดีกว่าไหม!!!