ไหนว่าประเทศไทยจะตกขบวนเส้นทางสายไหมใหม่ One Belt,One Road หากไทยเรายังไม่ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน”โครงการความร่วมมือไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ที่ต้องใช้งบลงทุนก่อสร้างบานทะโรคไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย –สระบุรี ในเฟสแรกก็ปาเข้าไปกว่า 179,000 ล้านบาท เท่ากับงบลงทุนทั้งสายในโครงการเดิมสมัยรัฐบาลชุดก่อน (ยังจะลงทุนในเฟส 2 โคราช-หนองคายอีกไม่น้อยกว่า 240,000 ล้านบาท)
นายกฯถึงกับงัด ม.44 ผ่าทางตันการดำเนินโครงการนี้ โดยคำสั่ง “คสช.” กำหนดให้ยกเว้นบังคับใช้มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านระเบียบปฏิบัติให้บุคลากรจีนสามารถออกแบบรายละเอียด ควบคุมงานก่อสร้างและจัดหาระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมถึงจัดหาขบวนรถไฟ เพื่อเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าได้โดยเร็วหลังติดๆ ขัดๆ มาแรมปี
ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนสายประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนี้ ชนิดที่จะไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการขนส่งประเทศไทย
แม้นักวิชาการ ผู้คนจากหลายภาคส่วนจะออกโรงโต้แย้งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดั้นเมฆดำเนินการอยู่นั้นไม่ได้เป็นหลักประกันที่จะทำให้ประเทศไทยเกาะขบวนเส้นทางสายไหมดั่งที่กล่าวอ้าง ตรงกันข้ามไฮสปีดเทรนสายดังกล่าวจะเป็นความ “ฉิบหาย” ครั้งใหญ่ของประเทศที่จะต้องชดใช้หนี้กันชั่วลูกชั่วหลาน แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทาน คัดง้างอำนาจเบ็ดเสร็จตาม ม.44 ของหัวหน้าคสช.ได้
แต่วันนี้เพื่อนบ้านมาเลเซียกำลังตบหน้ารัฐบาลไทยและประเทศไทยฉาดใหญ่ และชี้ให้เห็นถึงความ “ปลิ้นปล้อน” ที่รัฐบาลไทยแหกตาประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
โครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของมาเลย์ในทศวรรษนี้
เมื่อจีนและมาเลเซียเพิ่งประกาศความร่วมมือในการร่วมกันเดินหน้า “เส้นทางสายไหมใหม่” จับมือมาเลย์สร้างทางรถไฟรางคู่ โดยสเตรทไทมส์ ของสิงคโปร์รายงานรัฐบาล มาเลย์และจีนจับมือสร้างรถไฟรางคู่ ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่มูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.5 หมื่นล้านริงกิต (หรือ 390,000ล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 85% เพื่อสนับสนุนโครงการ Malaysia’s East Coast Rail Link : ECRL ขณะที่รัฐบาลมาเลย์เองมีแผนจะระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรจำหน่ายสมทบอีก 15%
โดยนายนาจิบ ราซัค นายกฯมาเลเซีย และนายหวัง หย่ง ประธานสภาของจีนร่วมเป็นประธานในพิธีก่อสร้างโครงการ ECRL ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เลียบชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย ระยะทาง 688 กม. ซึ่งนับเป็น “โครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของมาเลย์ในทศวรรษนี้” โดยโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมต่อการขนส่งทางรถไฟจากท่าเรือฝั่นตะวันออกไปยังท่าเรือในช่องแคบมะละกาทางฝั่งตะวันตก โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอ้อมสิงคโปร์อีก ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางและทำให้ต้นทุนขนส่งและโลจิสติกส์ถูกลง ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศอีกไม่น้อยกว่า 80,000 คน โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จใน 7 ปีข้างหน้าคือปี 2024
ไทยต้องเกาะขบวนเส้นทางสายไหมใหม่ “หนังคนละม้วน”
เห็นเส้นทางรถไฟทางคู่ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่มูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลมาเลย์และจีนเดินหน้าลุยเต็มพิกัดแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาพินิจพิเคราะห์โครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน”เส้นทางสายกรุงเทพฯ-โคราช ที่รัฐบาลกำลังป้ำผีปลุกผีนั่งในเวลานี้ มันจะไปเชื่อมต่อกับเขาได้อย่างไร ต่อให้ในอนาคตขยายเส้นทางลงใต้ก็ไม่สามารถเชื่อมกับเขาอยู่วันยังค่ำ
ลืมไปหรือเปล่าว่าความร่วมมือมาเลย์-จีนนั้นเป็นเส้นทางรถไฟทางคู่ เป็นรถไฟฟ้าปกติในการขนส่งคน สินค้า ไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูง ที่มีได้แต่คนและผู้โดยสารเท่านั้น
ยิ่งได้ฟัง รมช.พาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “ปลุกไทยคิดไกลดีดตัวรับ วันเบลท์ วันโรด นำไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก” ที่กลัวหนักกลัวหนาถึงขนาดอุปโลกน์สติแตกไปว่าจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องเกาะขบวนเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ วันเบลท์ วันโรด ไม่งั้นไทยจะตกขบวน
“เพราะเส้นทางนี้ได้ผาดผ่านเชื่อมหลายประเทศและทวีปเข้าด้วยกัน ตั้งแต่อาเซียน เอเชีย แอฟฟิรกา ไปจนถึงยุโรป เกี่ยวข้องกับ 64 ประเทศทั่วโลก และเส้นทางนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์โดยตรงกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทย อีกทั้งไทยยังประกาศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการเชื่อมภูมิภาคโยงไปถึงจีน และเส้นทางวันเบท์วันโรด”
LogisticsTime ฟังท่านรมต.สนธิรัตน์ พรั่งพรูแล้วก็ไม่รู้จะหัวเราะเป็นภาษาอะไรดี ก็ไม่รู้ว่าท่านอัดข้อมูลจนล้นหัวจนลืมเช็กดูแผนที่โครงการ วันเบลท์ วัน โรด หรือเปล่าว่า เส้นทางสายไหมใหมนั้นไม่มีเส้นทางไหน ทั้งทางบกและทางทะเลที่พาดผ่านประเทศไทยเลย
รถไฟไทย-จีน…ยังไปไม่ถึงไหน!
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หลังนายกฯงัดม.44 ผ่าทางตันไปตั้งแต่ 15 มิ.ย.แล้วนั้น ล่าสุด กระทรวงคมนาคมก็ยังออกอาการหน้ามืดตามลายกับร่างสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ฉบับที่ 2.1 ว่าด้วยงานจ้างออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา วงเงิน 1,706 ล้านบาท ที่จ่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบได้ไม่เกินสิ้นเดือนส.ค. ซึ่งช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าให้เสนอให้ได้ในช่วงต้นเดือนส.ค.
ส่งผลกระทบต่อการลงนามในสัญญาฉบับที่ 2.1 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับองค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Railway Design Corporation: CRDC) นั้น จะต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน โดยไม่สามารถที่จะลงนามทันตามกำหนดเดิมที่ตั้งเป้าจะลงนามร่วมกันในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. ที่จะถึงนี้โดยจะเลื่อนไปลงนามไม่เกินสิ้นเดือนส.ค. หรือต้นเดือนก.ย. นี้แทน
ส่วนสัญญาโครงการรถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.2 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา วงเงินประมาณ 1,648 ล้านบาท ก็ยิ่งสร้างปัญหาหนักอกเช่นกัน เพราะ ฝ่ายไทยและจีนอยู่ระหว่างเจรจาที่ยัง “ไร้ข้อสรุป” ข่าววงในหลุดมาว่าทางการจีนเล่นบทโหดเสนอค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานมาสูงกว่ากรอบ 1,649.08 ล้านบาทถึงเท่าตัว จึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากในการเจรจา
“รายละเอียดและตัวเลขของสัญญาควบคุมงานหรือ สัญญา2.2 จะต้องสรุปก่อนที่จะลงนามในสัญญาออกแบบ หรือ สัญญา 2.1 เพราะหากตกลง 2.2 ไม่ได้ ลงนาม 2.1 ไป ก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจะไม่สามารถก้อสร้างได้อยู่ดี เพราะไม่มีผู้ควบคุมงานก่อสร้าง”
ขนาดเริ่มต้นด้วยร่างสัญญา 2 ฉบับก็ยังสร้างปัญหาอึ้งและยื้อเวลาได้เพียงนี้ คงไม่กล่าวถึงอีกหลายร่างสัญญาที่รออยู่เป็นตับ เห็นทีความฝันอันสูงสุดกับการงัดม.44 เพื่อผ่าทางตันหวังปูพรมแดงให้รถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์นี้สะดวกโยธิน ดูเหมือนจะขัดแย้งและสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหลายทั้งปวง จากโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน หวังเชื่อม One Belt,One Road ถึง..โครงการความร่วมมือจีน-มาเลย์ลุยรถไฟทางคู่ ดูเหมือน “หนังคนละม้วน” อย่างสิ้นเชิง
และเป็นการสะท้อนถึง “ความปลิ้นปล้อนหลอกลวง” ของรัฐบาลไทยที่มีต่อประเทศไทย!
*************