จ่อเรียกแขกให้งานเข้าอีกโครงการ…
กับเรื่องที่กระทรวงพลังงานของ “บิ๊กโย่ง”-พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์” ที่กำลังซุ่มเงียบสั่งการให้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ประเทศกัมพูชา หลังจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศหลายต่อหลายโครงการถูกต่อต้านจนเกิดความล่าช้า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
ล่าสุด จึงมีข่าวกระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงแทนจำนวนกว่า 2,400 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าให้เจรจาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ อันเป็นช่วงที่ “บิ๊กพลังงาน”กำลังจะเกษียณ
ลำพังแค่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลงนามในเอ็มโอยู(MOU) ในโครงการความร่วมมือด้านพลังงานและบริหารจัดการน้ำกับบริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “สตึงนัม” ประเทศกัมพูชาที่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว 24 เมกกะวัตต์ในราคาสูงลิบลิ่วถึงหน่วยละ 10.75 บาทนั้น ก็ทำเอาผู้คนตั้งข้อกังขากันมากพออยู่แล้ว
เพราะเมื่อเทียบกับราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยผลิตเองจากแหล่งพลังงานทั้งหลายแหล่ ทั้งจากพลังน้ำที่ตกแค่หน่วยงาน 1.59 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2.83 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3.32 บาทต่อหน่วย พลังงานลม 6.46 บาทต่อหน่วย หรือไฟฟ้าจากพลังงานขยะก็ตกแค่ 6.53 บาทต่อหน่วยเท่านั้น แต่นี่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแต่กลับตั้งราคาซื้อขายกันไว้สูงลิ่วเกิน 10 บาท แถมยังจะ “ผูกปิ่นโต” ทำสัญญาซื้อขายกันไปถึง 50 ปี แบบนี้ประชาชนคนไทยไม่ลุกขึ้นมา“ถลกหนังหัว” ไอ้โม่งที่ชักใยอยู่เบื้องหลังก็ไม่รู้จะว่ายังไงกันแล้ว!
มาถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ที่นัยว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดมหึมา มีกำลังการผลิตสูงถึง 2,400 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นเท่าที่สืบค้นข้อมูลกันมานั้นนัยว่า มีผู้เสนอตัวเข้ามาดำเนินโครงการนี้อยู่ 2 ราย คือบริษัท เกาะกง ยูทีลิตี้ จำกัด ที่มีบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2566-2567 ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังเส้นสนกลในแล้ว ทุกฝ่ายต่างก็ฟันธงว่า มีแนวโน้มที่บริษัทเกาะกง ยูทีลิตี้ จำกัด จะชนะเข้าเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับระดับบิ๊กในกระทรวงพลังงานที่กำลังจะเกษียณอายุนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลก็คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงนั้นจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการลงทุนก่อสร้างระบบสายส่งจากเกาะกงมายังชายแดนไทยฝั่งจังหวัดสุรินทร์ ระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร(กม.) ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 70,000-100,000 ล้านบาท ทำให้หวั่นเกรงว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บจากประชาชนแพงขึ้นไปอีก
แต่ที่ทำเอาทุกฝ่ายมึนไปแปดตลบก็คือ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดกระทรวงพลังงานและกฟผ.ถึงต้องจุดพลุเร่งรีบเจรจาโครงการนี้ ทั้งที่กระทรวงพลังงานยังมีปัญหาสำรองผลิตไฟฟ้าส่วนเกินในแผน PDP 2015 (ปี 2558-2579) อยู่มหาศาลถึงกว่า 30% สูงกว่าปกติที่เคยสำรอง15% และบางช่วงในปี 2565-2568 นั้นนัยว่า กำลังสำรองทะลักขึ้นไปเกินกว่า 40% ด้วยซ้ำจนต้องหาทางเจรจาชะลอการรับซื้อไฟเข้าระบบจากผู้ผลิตไฟฟ้าในบางโครงการกันอยู่เลย
ล่าสุดนั้นถึงกับมีกระแสข่าวไม่เสนาะหู กรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีแผนจะจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้าจากโครงการโซล่าร์รูฟท็อป เพราะผลิตไฟฟ้าใช้เองจนทำให้ไฟฟ้าของรัฐขายไม่ออกก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์กันสนั่นเมือง ก่อนที่กกพ.จะออกมาตั้งโต๊ะแถลงยืนยันว่ายังไม่มีแผนจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้าที่ว่านี้แต่อย่างใด
แต่กระนั้นก็เป็นที่แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ของปริมาณสำรองไฟฟ้าในบ้านเราเวลานี้ยังคงอยู่ในภาวะทะลักล้นจุกคอหอย จนกระทรวงพลังงานต้องวิ่งวุ่นส่งให้กฟผ.หาทาง”บาลานซ์” บริหารจัดการกันใหญ่โต
แล้วจู่ๆ วันนี้กระทรวงพลังงานและกฟผ.จะผุดโครงการเจรจารับซื้อไฟฟ้าถ่านหินจากเกาะกงที่ว่านี้ขึ้นมาทำไมกันอีก หรือจะเป็นแผนทิ้งทวนเอื้อประโยชน์ให้ใครบางคนหรือไม่ เรื่องอย่างนี้ไม่มีไฟ มันไม่มีควันหรอกจริง หรือไม่ “ท่านปลัดอารีพงศ์” ที่เคารพ!!!