บ้านปู เพาเวอร์ฯ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก กำลังการผลิตบรรลุเป้า กำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

0
94

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation) ในภูมิภาคเอเชีย รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรกปี 2560 โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) คิดเป็น 3,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนพัฒนาการและความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์การแบ่งสัดส่วนระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนอย่างสมดุล เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 ตามนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของบ้านปู เพาเวอร์ฯ (Greener)

นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลประกอบการของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในครึ่งปีแรกของปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามแผนกลยุทธ์นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคืบหน้าของการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันเรามีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 26โครงการ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 14โครงการ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 12 โครงการ ในประเทศไทย สปป.ลาว จีน และญี่ปุ่น ส่วนกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ สิ้นไตรมาสที่ รวมอยู่ที่ 2,057 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 1,903 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน154.4  เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนและญี่ปุ่นมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายผลิตไฟฟ้าที่ Greener

ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2560 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,781ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 151 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจำนวน732 ล้านบาท

(รวมการขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 55 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่โรงไฟฟ้าหงสารายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,066 ล้านบาท (รวมการขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชีแล้วจำนวน 38 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 570 ล้านบาท จากการที่ทั้ง 3 หน่วยผลิต สามารถเดินเครื่องผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยอัตราการจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87 สำหรับโรงไฟฟ้าในประเทศจีน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหลวนหนาน (Luannan) เจิ้งติ้ง (Zhengding) และโจวผิง (Zouping) มีรายได้จำนวน 1,086 ล้านบาท  ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีรายได้รวมจำนวน 196 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ66 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าฮุ่ยเอิน (Hui’en) และโรงไฟฟ้าเต๋อหยวน (Deyuan) เป็นหลัก

บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังคงดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง (Greener) ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและญี่ปุ่นของบริษัทฯ มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวมถึง 152.1 เมกะวัตต์ และ 131.3 เมกะวัตต์ตามลำดับ ทั้งนี้ภายในปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นอีก 620 เมกะวัตต์เทียบเท่า จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นอีกจำนวน 9 โครงการ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี2561-2563 รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency Low Emission: HELE) ในประเทศจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าหลวนหนาน (Luannan) ระยะที่ 2 และ 3  ซึ่งมีกำหนด COD ในปี 2561และ 2562 ตามลำดับ

ในฐานะที่บ้านปู เพาเวอร์ฯ เป็น Regional Player และมีจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าให้เติบโตในประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ รวมถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ที่มีศักยภาพทางการเติบโตด้านการใช้ไฟฟ้าสูง เราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตได้ตามแผน ดังที่เราได้ประกาศไว้ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สำคัญ บ้านปู เพาเวอร์ฯ พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจไฟฟ้าและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสริมจุดแข็งของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง” นายวรวุฒิ กล่าวปิดท้าย