จากแรงงานต่างด้าวถึง GPS Tracking… เกาไม่ถูกที่คัน

0
451

ทันทีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560  ส่งผลทำให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศกันเป็นจำนวนมากมาย   ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เดือดร้อนเกิดความวุ่นวายกันไปทั่วหน้า ทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นายกฯต้องงัดมาตรา 44  “ไพ่ใบสุดท้าย ”  ขัดตาทัพชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงออกไปก่อน 180 วัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการขาดนโยบายและกลยุทธ์เชิง “รุก” การจัดการการเข้าเมืองและการมาอาศัยและประกอบอาชีพของคนต่างชาติ   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความพร้อมการประเมินผลให้รอบคอบถี่ถ้วนรอบด้านก่อนประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ

ไม่ต่างไปจาก การประกาศบังคับใช้กฎหมายให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้ง GPS  Tracking ภายใต้นโยบายของกระทรวงคมนาคม  ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าของประเทศนับแสนๆรายทั่วประเทศ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก 10 ล้อขึ้น ถึงวันนี้ได้รับความเดือนร้อนกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์โดยรวม

ภายหลังจาก กรมการขนส่งทางบกประกาศใช้กฎหมายให้รถโดยสารสาธารณะทุกดันติดตั้ง  GPS Tracking    เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบรถบรรทุก 10 ล้อ   เหตุผลหลักๆ พอสรุปดังนี้  เกิดค่าปรับซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิม   กรณีโดนยึดใบขับขี่ ก็ไม่สามารถขับรถต่อได้อีก  เพราะใบขับขี่เชื่อมโยงข้อมูล GPS Tracking เพื่อสตาร์ทรถแสดงตัวตน  และค่าคิดค่าปรับสูงคิดอัตราสูงมาก เริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทจนถึง 50,000 บาท

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น  การติดตั้งGPS ยังเกิดปัญหาจากตัวใช้เครื่อง GPS Tracking เอง (ของผู้ใช้บริการ GPS Tracking บางค่าย) ตัวเครื่อง GPS Tracking ประเมินค่าไม่เสถียร ( Errors )  ผลค่าความเร็วรถผิดพลาดจากความเป็นจริง  รวมถึง ต้นทุนค่าติดตั้งเครื่อง GPS Tracking  บวกกับค่าใช้บริการรายเดือนแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อรายอีกด้วย  แต่ในที่สุดกรมการขนส่งทางบกออกคำสั่งให้ชะลอมาตรการ จับ-ปรับ ออกไปก่อน

 พลิกปูมหลังบังคับรถสาธารณะติดตั้ง GPS

ย้อนปูมหลังที่มา ประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดตั้ง GPS Tracking  ที่มีผลบังคบใช้ เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา   โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประกาศชูธงจัดทำโครงการ “มั่นใจ รถใช้ GPS”   เพื่อติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถด้วยเทคโนโลยี GPS  Tracking เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS  Real-time   เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน  รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้ง GPS ครบทุกคันในปี 2560   รถลากจูงและรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) จะต้องติดตั้งให้ครบทุกภายในปี 2562

สนิท  พรหมวงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  กล่าวว่า ประเด็นความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะเป็นนโยบายสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกและกระทรวงคมนาคมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการเข้มงวดตรวจจับความเร็วรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก รวมถึงพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ภายใต้โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ซึ่งเป็นการบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคัน และรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ติดตั้ง GPS Tracking  ตามคุณสมบัติที่กรมการขนส่งทางบก ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องบ่งชี้พนักงานขับรถ (เครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถ) พร้อมระบบการทำงาน Real-time online เชื่อมโยงกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก

แต่ทว่า  1 ปีกว่า ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายติดตั้ง GPS Tracking ถูกตั้งประเด็นคำถามว่า มีความจำเป็นและประโยชน์ในติดตั้ง GPS ในการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของยานพาหนะ  เพื่อยกระดับความปลอดภัย จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้จริงๆหรือไม่

หากดูพฤติกรรมการประเภทรถยนต์ที่ขับเร็วและเกิดอุบัติมากที่สุดคือ “ รถจักรยานยนต์”   ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุสูงสุดของประเทศ จากเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบกเอง เมื่อเดือนเมษายน  2559 ระบุว่า  อุบัติเหตุทางถนนกว่าร้อยละ 80 เกิดจากความประมาท ขับรถเร็ว  ซึ่งผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ ถึงร้อยละ 86  ไม่สวมหมวกนิรภัย    นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 70 ของผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นคนในชุมชน และหมู่บ้าน  ตามถนนสายรองต่างๆ  ซึ่งสาเหตุหลักยังคงเกิดจากการไม่เคารพกฎจราจรและเมาสุรา   และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ประสบอุบัติเหตุคือ  “ขับรถเร็ว”   โดยมีสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึงปีละกว่า 700 ราย

สำหรับ Logistics Time   ประเมินว่าการติดตั้ง GPS Tracking เพื่อป้องกันความปลอดภัยทางถนนควบคุมตรวจจับความเร็ว   ยิ่งนำมาบังคับใช้ติดตั้งกับรถบรรทุก 10 ล้อเท่ากับการแก้ปัญหาไม่ตรงเป้าหมาย หรือ “ เกาไม่ถูกที่คัน” ใช่หรือไม่    อุบัติทางถนนส่วนใหญ่ ไม่ใช่รถบรรทุก 10 ล้อ แต่เป็นรถมอเตอร์ไซค์มากกว่า     อีกทั้งอุบัติที่เกิดขั้นแต่ละครั้งอยู่ที่พฤติกรรม การพักผ่อนเพียงหรือไม่  ของพนักงานขับรถมากกว่า    การติดตั้ง GPS   หาไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติบนท้องถนนขึ้นอีก

 “นายหัวทองอยู่” กุมขมับ ขนส่งติดกับดัก GPS   Tracking

ขณะที่ ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า การติดตั้งGPS  Tracking เป็นการบริการจัดการเพื่อลดต้นทุนเรื่องโลจิสติกส์  แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่แท้จริง อีกทั้งการควบคุมพฤติกรรมพนักงานขับรถบรรทุกผ่าน GPS ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อาทิ ปัญหาค่าปรับซ้ำซ้อนจากหลายหน่วยงานในคดีเดียวกัน ในวันหรือเส้นทางเดียวกัน เพราะสามารถออกใบสั่งได้จากหน้าจอ หรือข้อกำหนดที่บังคับใช้แล้วว่าให้ขับ4 ชั่วโมงพักครึ่งชั่วโมง แต่กลับไม่มีจุดพัก หรือ Park Terminal ที่เหมาะสมให้  จึงควรที่จะขยายเวลาออกไปจนกว่าทุกอย่างจะพร้อมมากกว่านี้

“การถูกยึดใบอนุญาตขับขี่เป็นระยะเวลานานตามใบสั่ง ทำให้พนักงานขับรถต้องหายไปจากระบบ เนื่องจากไม่มีใบขับขี่มาแสดงตัวตน เป็นการซ้ำเติมภาวะขาดแคลนพนักงานขับรถ ซึ่งปัจจุบันในระบบมีเพียง 8 แสนคน ในขณะที่รถบรรทุกมีจำนวนสูงถึง 1 ล้าน 3 หมื่นคัน และกรณีขับรถขนส่งทางไกลระยะทางเกิน 600 กม.จะต้องมีพนักงานขับรถถึง 2 คน รวมแล้วในธุรกิจขนส่งของไทยจะต้องมีพนักงานขับรถบรรทุก 1 ล้าน 3 แสนคน  เพราะการขับรถบรรทุกโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือใช้ใบขับขี่ผิดประเภทนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เรื่องประกัน ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมให้การสนับสนุนวิชาชีพพนักงานขับรถบรรทุกเพื่อจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบอย่างพอเพียง”

สอดคล้องกับ  ชุมพล  สายเชื้อ  เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “LOGISTICS TIME ”ว่า  ที่ผ่านมา รถบรรทุกทยอยติดตั้ง GPS  รถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไปเริ่มทยอยติดตั้ง GPS กันตั้งแต่ปี 2559 – 2562 จำนวนรถบรรทุกมีประมาณ 9 แสนคัน รวมทั้งหมดรถยนต์สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคัน  การติดตั้งพอถึงรอบต่อทะเบียนภาษีประจำปี เราก็ต้องติดตั้ง GPS ให้เรียบร้อย ทางการการขนส่งทางบกถึงจะต่อทะเบียนรถให้  ปัจจุบันรถที่ติดตั้ง GPS แล้วประมาณ  2 แสนคัน

ผลพ่วงประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต้องรับภาระการติดตั้งอุปกรณ์และการจ่ายค่าสื่อสารรายเดือนคงเป็นอีกภาระหนึ่ง    ต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์น่าจะอยู่ในประมาณ 10,000 บาท โดยที่จะมีค่าสื่อสารรายเดือนประมาณ 250 – 350 บาท  โดยมีบริษัทติดตั้งและให้บริการที่ได้รับอนุญาตในปัจจุบันจากกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 30 ราย

 ขนส่งยอมรับ  ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด ล้อมคอกปม GPS       

สรุปร่วมผลกระทบการติดตั้ง GPS  ของผู้ประกอบการรถบรรทุก 10 ล้อ มีทั้งหมด  3 ด้าน ดังนี้คือ  1 ความเท่าเทียม ความยุติธรรม  รถในระบบทยอยกันติดตั้ง GPS  คันไหนติดก่อนเท่ากับต้องแบกรับภาระก่อน เกิดความไม่เท่าเทียมกัน   ทั้งที่ความจริงน่าจะรอให้ติดตั้ง GPS ครบก่อนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย   2.การเปิดเผยข้อมูลควรปรับปรุง  ขณะนี้ทุกคนเข้าในไปดูเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก ใคร ก็สามารถเห็นข้อมูลการเดินทางของรถบรรทุกได้ทั้งหมดเลย   ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ควรให้ใครมาดูก็ได้ นั่นเท่ากับว่าข้อมูลส่วนบุคคล ( privacies ) ถูกเปิดเผย

 “ทั้งที่ควรทำการป้องกัน เพราะเป็นข้อมูลทางธุรกิจการค้า ด้านปลอดภัยและความมั่งคง   นอกจากนี้ ยังพบใบสั่งจับปรับความเร็วรถ  อย่าง  รถเทเลอร์ โดนปรับความเร็ว 173 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้อย่างไร รถเทเลอร์จะวิ่งเร็วขนาดนั้น ก็ได้สอบถามไปยังผู้ให้บริการ GPS แล้วตอบกลับมาว่า เกิดความผิดพลาดคลานเคลื่อน  ดังนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ให้บริการ GPS เอง ก็ยังไม่พร้อมตัวเครื่องไม่เสถียรและมีความแม่นยำเพียงพอ  การนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นค่าปรับคิดว่า ไม่เหมาะสมหรือไม่”

และ 3. ความไม่พร้อมของการบังคับใช้กฎหมาย  มีมาตราหนึ่ง ระบุว่า ทุก 4 ชั่วโมงคนขับรถต้องแวะพัก แต่จุดพักรถที่ปลอดภัยมีไม่เพียงพอ ถึงเวลาต้องพักก็ไม่มี  หรือบางครั้งแม้กระทั่งตำรวจยึดใบขับขี่คนขับรถเราไป  คนขับรถก็ไม่มีขับขี่จะรูดกับเครื่อง GPS ในรถ เพื่อส่งสัญญาณ การเชื่อมต่อข้อมูล นี่ก็มีความผิดว่าด้วยการบังคับใช้ GPS ว่าไม่รูดบัตร ไม่ได้แสดงตนก็บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ เพราะโดนตำรวจยึดไปแล้ว

 ขนส่งสั่งชะลอมาตรการ จับ-ปรับ ออกไปก่อน

 “ผู้ประกอบการรถบรรทุกก็ต้องเสียค่าปรับ  GPS ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้กฎหมาย หรือ ข้อคับต่างๆ ที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องเสียเพิ่มเติมอีก    ทั้งตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ตำรวจจราจร และเจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก อีก ค่าปรับว่าด้วย GPS สูงมาก ค่าปรับโหดร้ายมากๆ  โดยเริ่มต้นปรับเป็นเงินจาก 1,000 บาท ไปจนถึง 50,000 บาท เรียกเก็บเงินค่าปรับทั้งคนขับและเจ้าของธุรกิจด้วย   ทั้งหมดจึงเป็นภาระค่อนข้างมาก”

สำหรับแนวทางการแก้ปมปัญหา 3 ด้าน   สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้นำเสนอต่อที่ประชุมร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก  เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา   กรมการขนส่งทางบกเองยอมรับและแก้ปัญหา “ความไม่พร้อม”  และหยิบยกปมประเด็นปัญหาทั้ง 3 ด้านให้กรมการขนสงทางบก  โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา  2 ชุด  ชุดแรกดูทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบ GPS  ว่า ขณะนี้ทั่วโลกดำเนินการอย่างไร  จะทำให้ถูกต้องแม่นยำ ลดความคลานเคลื่อนได้อย่างไร  ชุดที่ 2 ดูมาตรการทางกฎหมาย   หากใช้บังคับให้ถูกในส่วนของธุรกิจจะทำได้มาก -น้อย แค่ไหน

“ที่สำคัญกรมการขนส่งฯ ที่ได้รับทราบข้อมูลความเดือนร้อน และทราบข้อเท็จจริงของกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกทั้ง  3  ด้าน กรมขนส่งฯเห็นด้วยถึงความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการจับปรับขนาดนั้น ดังนั้น  จึงออกคำสั่งภายในไปยังขนส่งจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ให้ชะลอการจับ-ปรับ ออกไปก่อน”

นับต่อจากนี้   ช่วยกันจับตาการแก้ไขปม GPS หลังจากกรมการขนส่งทางบกทำการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด  เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคงได้รับการแก้ไขอย่างจริงๆจัง ๆ   และไม่ใช่ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อซื้อเวลาออกไปพลาดๆ ก่อน

ทั้งนี้ ภายใต้หลักการการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ   รัฐพึ่งคำนึงถึงการสร้างความสมดุลสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นกับทุกๆฝ่าย เพื่อความยั่งยืนของประเทศต่อไป  ใช่หรือไม่..?