ครม.เคาะโครงการรถไฟไทย-จีนมูลค่า 179,000 ล้านบาท พร้อมเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยจะลุยตอกหมุดระยะที่ 1 ถึงนครราชสีมาก่อน เปิดราคาค่าโดยสารแค่ 535 บาท ย้ำไทยเป็นเจ้าของโครงการลงทุนเองทั้งหมด ส่วนที่จีนจะเข้ามามีแค่ 25 % ของมูลค่าโครงการ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาวงเงิน 179,413 ล้านบาท มีเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560 – 2563) ส่วนระยะต่อไป โคราช-หนองคาย คาดจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) หรือการจัดจ้างลักษณะอื่น ๆ โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปีและ หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อทราบ
“ครม. เห็นว่าโครงการนี้จะเป็นการปฏิรูปการรถไฟของไทยครั้งสำคัญ และจะส่งผลต่อประเทศในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ หากไทยไม่ลงทุนจะเสียโอกาสการเชื่อมโยงประเทศไทย กับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยเฉพาะกับเส้นทางสายไหมของจีนที่จะเชื่อมไปยังยุโรป รวมระยะทาง 53,700 กม. ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้วครึ่งหนึ่ง สำหรับเส้นทางเชื่อมจากไทยถึงจีนจะมีระยะทาง 800 กม. ในส่วนไทยรับผิดชอบ 647 กม. ลาว 440 กม.และจีน 777 กม. ขณะเดียวกันจะเป็นการเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งเบื้องต้นจะมี 6 สถานีคือ บางซื่อ ดอนเมืองอยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ส่วนอนาคตจะขยายเส้นทางไปถึง จ.หนองคาย ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็นเส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย แต่ทำระยะแรกก่อนเพื่อให้คนไม่เข้าใจผิดว่าจะทำเพียงแค่นี้ และเมื่อทำครบแล้วสมบูรณ์ก็จะเชื่อมไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนของประชาชนในพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงเข้าถึง”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ลักษณะโครงการ มีระยะทางรวม 253 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลาการเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีนครราชสีมา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย ทั้งนี้ ใช้รถโดยสารที่มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่ง / ขบวนความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. โดยมีอัตราค่าโดยสาร 80 บาท +1.8 บาท/คน/กิโลเมตร เช่น ค่าโดยสารกรุงเทพฯ-สระบุรี 278 บาท กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท เมื่อเทียบกับค่ารถ บขส.อยู่ที่ 200 บาท คาดมีจำนวน ผู้โดยสารในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิด 5,300 คนต่อวันหรือมีคนใช้บริการ 1 ใน 4 ของคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯไปนครราชสีมา วันละ 20,000 คนขณะที่ในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือปี 2594 จะมีผู้โดยสารอย่างน้อย 26,800 คนต่อวันโดยจะมีรถ 26 ขบวนต่อวัน วิ่งทุก 35นาที จากที่ปีแรกจะมีรถ 11 ขบวนต่อวันวิ่งทุก 90 นาที
ทั้งนี้ จากการคำนวณผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรืออีไออาร์อาร์ จะอยู่ที่ 8.56% แต่ถ้าดูถึงผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองและรอบๆสถานี จะมีอีไออาร์อาร์ 11.68% เป็นการคำนวณเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเท่านั้นยังไม่ครอบคลุมถึงเส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย และต่อไปยังจีน อีกทั้งการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอย่างจะส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง สร้างโอกาสทางธุรกิจตามมา
“กระทรวงคมนาคมได้รายงานในที่ประชุมครม.ว่า งานก่อสร้างและงานโยธา จะเป็นการจัดจ้างคนไทยและบริษัทของคนไทยคิดเป็น 75 % ของมูลค่าโครงการส่วนอีก 25% เป็นการจัดจ้างทางจีนในเรื่องของการจัดวางระบบ อาณัติสัญญาณ การควบคุมและการพัฒนาบุคลากร โดยในส่วนที่จีนรับผิดชอบ ยังสามารถจัดจ้างคนไทยเป็นฝ่ายปฏิบัติการได้ด้วย”
นอกจากนั้น เส้นทางรถไฟ ความเร็วสูงจากเกาะไปกลับเส้นทางรถไฟสายเดิมให้มากที่สุดแต่มีความจำเป็นที่ต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อให้ ความเร็วของรถไฟอยู่ที่ 250 กม.ต่อชั่วโมง จึงจะมีการเวนคืนที่ดิน 2,815 ไร่ มีเงินค่าเวนคืนประมาณ 212ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในต่างจังหวัด