นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงเรื่องการจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังไฮดรอลิกส์ของการรถไฟฯ ตามที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความของลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังจะมีการจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังไฮดรอลิกส์ (Turbo Transmission) ซึ่งเป็นตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปที่เพลาล้อของรถดีเซลรางจำนวน 5 ชุด ชุดละ 7.47 ล้านบาท วงเงิน กว่า 37 ล้านบาท โดยมีการระบุยี่ห้อและรุ่นอย่างชัดเจน ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคแบบกว้าง ๆ หรือคุณสมบัติเทียบเท่า ซึ่งยี่ห้อและรุ่นดังกล่าวมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวในโลก และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเพียงรายเดียว ทำให้ผู้ผลิตยี่ห้ออื่นที่มีคุณภาพดีไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ นอกจากนี้การตั้งราคากลางเครื่องมือดังกล่าวมีราคาแพงกว่าราคาที่การรถไฟฯ ของประเทศอินเดีย สั่งซื้อเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในราคาชุดละ 2.20 ล้านบาท หรือแพงกว่าถึง 240 % โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการล็อกสเปก นั้น การรถไฟฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
การจัดซื้อเครื่อง Turbo Transmission ที่กล่าวถึง มีลักษณะการทำงานคล้ายกับการทำงานของเกียร์อัตโนมัติในรถยนต์ การจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังจำนวน 5 ชุดดังกล่าว เป็นการจัดซื้อเพื่อใช้เป็นเครื่องสำรองหมุนเวียนระหว่างซ่อมสำหรับรถดีเซลราง Daewoo จำนวน 39 คัน ที่การรถไฟฯ ได้จัดซื้อมาใช้งานตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2539 โดยรถดีเซลรางรุ่นดังกล่าว บริษัท Daewoo ได้ออกแบบ/ติดตั้งเครื่องถ่ายทอดกำลัง ยี่ห้อ Voith Turbo Transmission รุ่น T211rZ เพื่อให้ได้สมรรถนะตามที่การรถไฟฯ กำหนด และตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมาได้มีการซ่อมวาระหนัก (Major Overhaul) มาแล้วกว่า 5 รอบ มีการจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังมาเป็นเครื่องสำรองหมุนเวียนระหว่างซ่อม จำนวนทั้งสิ้น 8 ชุด ปัจจุบันทั้ง 8 ชุด ชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ไม่มีเครื่องสำรองหมุนเวียนระหว่างซ่อม เพื่อให้รถดีเซลรางสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเอกสารประกวดราคา (TOR) ที่กำลังจะเผยแพร่ให้ผู้สนใจวิจารณ์ ได้กำหนด Turbo Transmission T211rZ รุ่นที่มีการใช้งานอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากขบวนรถดีเซลรางจะประกอบด้วย รถดีเซลรางประมาณ 2-6 คัน ต่อขบวนรถ หากมีการติดตั้งเครื่องถ่ายทอดกำลังต่างรุ่นต่างยี่ห้อมาใช้ในขบวนเดียวกัน โดยที่มีสมรรถนะไม่เหมือนกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนของขบวนรถและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร อาจทำให้ขบวนรถกระตุก หรือกระชากได้ ซึ่งถ้าจะเปรียบเหมือนรถยนต์ หากเกียร์อัตโนมัติของรถยี่ห้อหนึ่งชำรุดก็ไม่สามารถนำเกียร์อัตโนมัติยี่ห้ออื่นมาใช้แทนได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ การรถไฟฯ ก็ยังเปิดกว้างด้วยการกำหนดความต้องการใน TOR ไว้ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ของแท้ / ยี่ห้อที่กำหนด
- ผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า และเคยมีประวัติการใช้งานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการรถไฟอื่น โดยต้องแนบ Supply Record มาพร้อมเอกสารส่วน 2
- ผู้เสนอราคาที่เสนอผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นต้องแจ้ง Part No. และรายการละเอียดของอะไหล่ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ที่เสนอด้วย ซึ่งจะเห็นว่า การรถไฟฯ ได้มีการเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นซึ่งเคยผลิตเครื่องถ่ายทอดกำลังเทียบเคียงรุ่นดังกล่าว และเคยมีผลการใช้งานมาแล้ว ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ สามารถเสนอประกวดราคาได้ จึงไม่ได้เป็นการล๊อคสเปคตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ส่วนของประเด็นการกำหนดราคากลางนั้น การรถไฟฯได้จัดซื้อ Voith Turbo Transmission รุ่น T211rZ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2551 จำนวน 2 ชุด และเนื่องจากมีระยะเวลาเกิน 2 ปี จึงต้องทำการสืบราคาใหม่ตามระเบียบ โดยได้ทำการสืบราคาจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย รวมไปถึงการสอบถามผู้แทนจำหน่าย Turbo Transmission ยี่ห้ออื่นด้วย แต่ก็มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การรถไฟฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544 ได้ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มีการประกวดราคาแข่งขันอย่างยุติธรรม จึงได้ดำเนินการจัดหาด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่การรถไฟฯ ใช้รถดีเซลรางรุ่นนี้มา 22 ปี ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด เสนอเข้ามาดัดแปลงใช้งาน
สำหรับประเด็นที่ว่าการรถไฟฯ มีการตั้งราคากลางกลางเครื่องมือดังกล่าวแพงกว่าที่การรถไฟฯ อินเดียจัดซื้อเมื่อปี พ.ศ.2558 นั้น การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลการนำเข้า/ส่งออกสินค้าของต่างประเทศ พบว่าในปีดังกล่าว อินเดียมีการนำเข้าชิ้นส่วนของ Voith Turbo Transmission ในราคาที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวอ้าง แต่เป็นรุ่น T211r3 ซึ่งคาดว่าเป็นราคาของชิ้นส่วนอะไหล่เท่านั้น ไม่ได้เป็นชุด (Complete Set) แบบเดียวกับที่การรถไฟฯ จะจัดซื้อ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตรวจสอบ การรถไฟฯ จะใช้ความพยายามทำหนังสือสอบถามถึงการใช้งานและราคาของ Voith Turbo Transmission รุ่น T211rZ (Complete Set) ไปยังการรถไฟฯ อินเดีย เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าได้มีการกำหนด TOR และราคากลาง ที่คำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ความคุ้มค่า กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเปิดกว้างให้มีผู้เข้าแข่งขันเสนอราคามากรายแล้ว