กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้หน่วยงานรัฐเกือบต้องเสียค่าโง่ “ซ้ำซาก” ….
กับโครงการทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-บางประกง) ที่ไม่รู้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ไปทำสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างกันอีท่าไหน ถึงได้ถูกคู่สัญญาเอกชน (กิจการร่วมค้าบีบีซีดี และกลุ่ม ช.การช่าง) ฟ้องนัวเนียจ่อจะทำให้รัฐต้องเสียค่าโง่ “ซ้ำซาก” ขึ้นมาได้
15 ปีก่อนถูกกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างจนทำให้วงเงินก่อสร้างบานปลาย ผู้รับเหมาจึงฟ้องขอชดเชยเอาจาก กทพ. วงเงินรวม 6,200 ล้านบาท และต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งขึ้น ก็เห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ คือ กทพ. ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่เอกชนเป็นวงเงินรวมกว่า 6,039.89 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ 15 ม.ค. 2543 ที่ยื่นข้อพิพาท (คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 20 กันยายน 2544)
แต่ที่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตนั้นเห็นความไม่ชอบมาพากล จึงลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวคัดง้างคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว พร้อมสั่งให้ กทพ.ต่อสู้คดีค่าโง่นี้ให้ถึงที่สุด (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 ก.พ.2545) และท้ายที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2549 ยกคำร้องของกิจการร่วมค้าบีบีซีดีที่ยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549) โดยศาลเห็นว่าอดีตผู้บริหาร กทพ. ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีผลผูกมัดคู่สัญญาและไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม
หลังคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์ กิจการร่วมค้า บีบีซีดี กลับพลิกหาช่องทางยื่นฟ้อง กทพ. ต่อศาลแพ่งใหม่อีกครั้ง เมื่อ 11 ก.พ. 51 กล่าวหาว่า กทพ. ได้ “ลาภมิควรได้” อันหมายถึงได้โครงการทางด่วนบูรพาวิถีมาเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัท ถือเป็นลาภที่มิควรได้ตาม ม.411 จึงฟ้องศาลให้ กทพ. คืนทรัพย์หรือทางพิเศษให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากทางพิเศษดังกล่าวได้ตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว จึงต้องให้ กทพ. ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัทเป็นเงินกว่า 9,683 ล้านบาท ไม่รวมดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 50 เป็นต้นมา จนกว่าจะชดใช้เงินตามฟ้องได้ครบ
กลายเป็นคดีสุด “พิสดาร” จากคดีค่าโง่ทางด่วนที่ กทพ. ชนะคดีพิพาทไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 6,200 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่อยู่ดีๆ กลับทำท่าจะต้องหวนกลับไปจ่าย “ค่าโง่” โครงการเดิมให้แก่คู่สัญญาเอกชนรายเดิมนี้อีกในวงเงินที่นัยว่ายังคงป้วนเปี้ยนอยู่ในราว 6,200 ล้านบาทอีกนั่นแหละ!
แถมวันดีคืนดีศาลแพ่งไม่เพียงจะประทับรับฟ้องคดีความดังกล่าว แต่ยังมีคำพิพากษาให้ กทพ. พ่ายแพ้คดีนี้ (15 กันยา 2554) โดย กทพ. ต้องจ่ายชดเชยแก่บริษัทจากลาภที่มิควรได้นี้กว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่ 15 ก.พ. 2550 ก่อนที่ กทพ. จะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนของศาลโดยมี พล.ต.อ.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ บอร์ด กทพ. ในเวลานั้นเป็นประธาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ว่านี้ ไปเจรจากันอีท่าไหนกันอีกถึงจะให้กทพ.ต้องเสียค่าโง่ไปจนได้
ก่อนที่บอร์ด กทพ.ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมในเวลานั้นเป็นประธานจะมีมติ “หักดิบ” ให้ยุติการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ทำท่าจะกลายเป็น “เจรจาเกี้ยเซี้ยะ” พร้อมเดินหน้ายื่นอุทธรณ์แทน เพราะขืนดำเนินการตามแนวทางการเจรจาไกล่เกลี่ยที่อนุกรรมการฯ เสนอ ที่จะให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยให้แก่เอกชนเพื่อยุติคดี ก็มีหวังทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหาร กทพ. ได้พาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช. ยกกระบิแน่
ในเมื่อศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ “ยกคำฟ้อง”ของคู่สัญญาเอกชนรายนี้ไปแล้วด้วยเห็นว่า มีการจัดทำสัญญากันอย่างฉ้อฉลไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น จนยังความเสียหายแก่รัฐ แล้วจู่ ๆ“ค่าโง่” ทางด่วน 6,200 ล้านที่ถูก “ปิดประตูลั่นดาน” ไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะลุกขึ้นมาหลอน กทพ.ได้อย่างไร?
27 ธันวาคม 56 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับยกฟ้อง กทพ.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ที่ว่าอีกครั้ง ก่อนที่บริษัทจะใช้สิทธิ์ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 60 ยืนตามศาลอุทธรณ์ เท่ากับ กทพ. ชนะคดี โดยศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างกับ กทพ. จำเลย โดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างไม่มีผลผูกพันจำเลยแม้โจทก์กับพวก จะทำงานตามสัญญาจนเสร็จสิ้น และจะส่งมอบโครงการทางด่วน โดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือว่าโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411
ไม่รู้ว่าจากนี้ไปกลุ่มบริษัทรับเหมาเอกชนรายนี้จะยังมีลูกเล่นอะไรตามมาอีก!!!!
บทความโดย…เนตรทิพย์