เมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าบ้านเรามีแหล่งท่องเที่ยวในด้านต่างๆ อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี ให้ได้ศึกษา เรียนรู้ และสัมผัสถึงวิถีการดำรงชีวิต วิถีความเป็นอยู่ของถิ่นฐานชุมชน รวมไปถึงสัมผัสวิถีแห่งวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติที่หลอมรวมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
LT On Trips ในฉบับนี้ น้องสุขใจ ขอพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมโบราณสถาน ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยโบราณสถานแห่งนี้มีประวัติให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ เรียกได้ว่า ใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองไทย สถานที่แห่งนี้ที่น้องสุขใจจะพาไปนั้นจะสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี…. อย่างนั้นไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้กันเลยดีกว่าครับ..!!
“พระตำหนักคำหยาด” ในอดีตมีการสันนิษฐานว่า พระตำหนักแห่งนี้ปลูกสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อใช้เป็นที่ประทับแรม เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้ และในขณะเดียวกัน กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด หรือ เจ้าฟ้าอุทุมพร) เคยผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุ ที่จงรักภักดี เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน จนกระทั่งมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบายไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทอง แล้วสร้างพระตำหนักคำหยาดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อจำพรรษาเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้ว พระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่าไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โตสร้างสร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดั้งนั้นจึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้อยู่เนือง ๆ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน ขณะที่กรมขุนพรพินิตผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทองและประทับอยู่ที่ตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน
สำหรับพระตำหนักแห่งนี้ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นใต้ถุนสูง พื้นปูด้วยไม้ มีมุขเด็จยื่นมาออกไปทั้งสองด้าน ได้แก่ ทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ผนังชั้นล่างและหน้าต่างภายในเจาะเป็นช่องโค้งปลายแหลม ภายในทาสีดินแดง โครงสร้างอาคารใช้เสากลมและผนังรับน้ำหนัก โบราณสถานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระตำหนักคำหยาด สันนิษฐานว่า เป็นวิหาร หรือ หอพระ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานสูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวอาคาร สภาพในปัจจุบันพระตำหนักคำหยาด เหลือเพียงผนัง 4 ด้าน แต่ยังคงให้เห็นเค้าความงามทางด้านศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายประตูซุ้มจรนำ หน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดงปูพื้นกระดาน ร่องรอยของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมฉาบฉายให้เห็นถึงเรื่องราวและความทรงจำในสมัยอดีตได้อย่างน่าสนใจ โดยปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะและขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานของชาติไว้แล้ว โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 30 ไร่ 82 ตารางวา
ได้ฟังเรื่องราวประวัติความเป็นมาของพระตำหนักคำหยาด ใครที่อยากไปสัมผัสด้วยสองตาของตัวเอง ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสวยงามมากน้อยเพียงใด เห็นทีต้องไม่พลาดที่จะไปเยือนสถานที่แห่งนี้สักครั้งหนึ่ง ซึ่งถามว่า พระตำหนักแห่งนี้ตั้งอยู่แห่งหนตำบลใด พระตำหนักคำหยาด ตั้งอยู่ที่ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 9 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง อยู่ถัดจากวัดโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตรบนถนนสายเดียวกัน เรียกได้ว่าเดินทางด้วยระยะเวลา 1 ชั่วโมงกว่าจาก กรุงเทพฯ ก็สามารถมาชื่นชมความสวยงามของพระตำหนักแห่งนี้กันได้แล้ว….อยากรู้ว่าสวยงามขนาดไหน คงต้องมาดูด้วยตาของตัวเอง