สิงห์รถบรรทุกอาเซียนประชุม ATF ยิ่งใหญ่ ฉลองสมาชิกครบ 10 ประเทศ

0
311

 

ATF จัดประชุมประจำปี 2017 ยิ่งใหญ่ ฉลองสมาชิกครบ 10 ประเทศอาเซียน ส่งผลให้เป้าหมายด้านสนับสนุนการค้าขายข้ามชายแดนภายในภูมิภาคเดียวกันที่มีพรมแดนต่อเนื่องกันชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล วางเป้าร่วมประชุม IRU World Congress มั่นใจคุณยู ดำรงตำแหน่งวาระที่ 2

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา สหพันธ์การขนส่งทางรถบรรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) จัดการประชุมสามัญประจำปี 2017 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงาน Thailand International TRUCK SHOW 2017 โดยมีสมาชิกและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกว่า 200 คนจาก 10 ประเทศ โดยครั้งนี้ ATF ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ 2 สมาคมจากประเทศฟิลิปปินส์ และที่ประชุมมีมติเร่งเดินหน้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กระชับความสัมพันธ์ภายใน วางรากฐานการขยายองค์กร และ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า จากการประชุมสามัญประจำปี 2017 ของสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ASEAN Trucking Federation) หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ATF มีสมาชิก และ องค์กรต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมากกว่าการประชุมประจำปี 2016 ที่จัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซียกว่า 3 เท่าตัว โดยมีสมาคมและบริษัทที่เป็นสมาชิกของ ATF  ประชุมประจำปี 2016 ที่จัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย กว่า 3 เท่าตัว โดยในจำนวนนี้ มีสมาคมที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 10 สมาชิก

“ในจำนวนนี้ มีสมาคมที่เพึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ โดย ATF ได้ทำการรับรองการเป็นสมาชิกภายในการประชุมครั้งนี้ 2 สมาคมได้แก่ Confederation of Truckers Association of the Philippines (CTAP) และ Port Users Confederation (PUC) จากประเทศฟิลิปปินส์ โดยการเชื้อเชิญของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ได้เดินทางไปยังประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แล บรูไน จึงได้พบกับผู้ประกอบการรถบรรทุกในทุกประเทศ และได้เชิญกลุ่มสมาคมจากประเทศฟิลิปปินส์มาร่วมเป็นสมาชิกดังกล่าว”

นอกจากนี้ ยังมีสมาคมและองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมไม่ว่าจะเป็น Federation of Sabah Lorry Transportation Association (มาเลเซีย), Federation of Sarawak Lorry Association (มาเลเซีย), Guangdong Logistics Industry Association Logistics Academy (จีน), Courex Pte. Ltd. (สิงคโปร์), Myanmar Container Truck Association (เมียนมาร์), Myanmar Highway Transportation Service Association (เมียนมาร์), German International Cooperation (GIZ) ในส่วนของประเทศไทยนั้น นำโดย กรมการขนส่งทางบก, สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน, สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการประชุมในปีนี้ ยังคงเป็นสาระเกี่ยวกับการวางรากฐานขององค์กรให้แข็งแกร่ง เนื่องจากองค์กรมีความเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของจำนวนสมาชิก และ ชื่อเสียง โดย ATF มีการเพิ่มสมาชิกมากขึ้นทุกปีจนครบ 10 ประเทศในปีนี้ และ ยังมีสมาคมต่างๆ ในแต่ละประเทศที่แสดงความสนใจ อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ATF เพิ่มขึ้นอีกด้วย องค์กร ATF ได้เป็นที่รู้จักและยอมรับของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (ASEAN Dialogue Partners) อีกทั้งยังได้รับการทาบทามจากองค์กรระดับโลก เช่น International Road Transport Union (IRU) ในการจะขอเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันกับทาง ATF และ ชักชวนให้ ATF เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม IRU คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียนเป็นท่านแรกในปี 2015 และ ในปีนี้ก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธาน ATF อย่างต่อเนื่องเป็นวาระที่ 2

คุณยูกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวาระที่ 2 นี้ ผมได้วางนโยบายในการดำเนินงานของ ATF ไว้ 3 ข้อด้วยกันข้อแรกคือ การดำเนินการจดทะเบียน ATF ให้เป็นนิติบุคคลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถได้รับการรับรององค์กรอย่างเป็นทางการจากทางสำนักเลขาธิการอาเซียน และ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับอาเซียน และ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนได้อย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการจดทะเบียนในประเทศที่สามารถจดทะเบียนได้สะดวกรวดเร็วที่สุดข้อที่ 2 คือ จะวางเกณฑ์การรับสมัครสมาชิกของ ATF ให้มีความชัดเจน วางหน้าที่รับผิดชอบให้กับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ และ เริ่มรับสมาชิกเพิ่ม เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่งมากขึ้น มีฟันเฟืองที่จะช่วยกันขับเคลื่อน สามารถเดินหน้าและทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกในประเทศอาเซียนได้อย่างสูงสุด ส่งผลเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมของประเทศอาเซียนทุกประเทศ เช่น การพยายามหารือกับประเทศสมาชิก เพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะร่วมกันภายใน ATF เพื่อสนับสนุนการค้าขายข้ามชายแดน ให้เกิดมีขึ้นโดยเร็วที่สุดในระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกันที่มีพรมแดนต่อเนื่องกัน โดยแนวคิดที่ได้จากการหารือร่วมกันนี้ จะนำส่งให้สมาชิกในแต่ละประเทศ นำไปเสนอแก่ภาครัฐของตนต่อไป

และข้อสุดท้าย คือ การมุ่งหน้าสร้างสัมพันธ์กับองค์กรระดับนานาชาติอื่นๆ ที่มีการให้ความสนใจใน ATF และ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมต่างๆ จะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์แก่สมาชิก และ ประเทศอาเซียนเป็นหลักนั่นเอง