มัณฑะเลย์ : เมืองดาวรุ่ง…มาแรงของเมียนมา

0
360

เมืองสำคัญในเมียนมา นอกจากกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงปัจจุบัน และย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงที่ยังคงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว “มัณฑะเลย์” ก็เป็นอีกเมืองสำคัญที่มีศักยภาพไม่เป็นรองใครและเป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาปี 2553-2573 โดยมีฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า และการคมนาคมขนส่งทางตอนกลางและบนของเมียนมา อีกทั้งยังเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอันดับ 2 รองจากเมืองย่างกุ้ง และที่สำคัญ มัณฑะเลย์กำลังก้าวขึ้นเป็น Super Gateway ที่เชื่อมไปยังจีนและอินเดีย ซึ่งเมื่อประกอบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนการเป็นฐานการผลิตสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอ และสินค้าเกษตรแปรรูป ส่งผลให้ปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่มัณฑะเลย์อย่างไม่ขาดสาย จึงเป็นที่คาดได้ว่ามัณฑะเลย์จะมีบทบาทโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับในฐานะกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตอย่างยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป

นอกจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของมัณฑะเลย์ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่นและมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวได้ในระดับ 7-8% แล้ว มัณฑะเลย์ยังมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะการมีโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางน้ำเชื่อมสู่เมืองย่างกุ้ง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สนามบินหลักของเมียนมา นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแห่งชาติของเมียนมา ยังมีโครงการยกระดับเส้นทางรถไฟสายมัณฑะเลย์-เนปิดอว์-ย่างกุ้ง ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และเมืองย่างกุ้งลดเวลาลงจาก 16 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 8 ชั่วโมงเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการที่เชื่อมเมืองมัณฑะเลย์สู่เมืองสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองมัณฑะเลย์ยังมีศักยภาพในด้านการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เชื่อมไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันราว 2,600 ล้านคน หรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งศักยภาพดังกล่าวทำให้เมืองมัณฑะเลย์กำลังได้รับการจับตามองในฐานะ Super Gateway ที่เชื่อมไปยังจีนและอินเดียภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของทั้งจีนและอินเดีย กล่าวคือ นโยบาย One Belt, One Road ของจีนวางยุทธศาสตร์ให้เมียนมาเป็นประตูออกสู่มหาสมุทรอินเดียให้แก่มณฑลตอนในของจีน โดยเชื่อมโยงจากนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ไปยังเมืองมูเซ เมืองชายแดนในรัฐฉานของเมียนมา ก่อนเข้าสู่เมืองมัณฑะเลย์และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวในรัฐยะไข่เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ขณะที่อินเดียมีเส้นทาง IMT (India-Myanmar-Thailand) Trilateral Highway เชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย ตามนโยบายรุกตะวันออก (Act East) โดยเชื่อมโยงจากเมืองมอเร่ เมืองชายแดนในรัฐมณีปุระของอินเดีย เชื่อมไปยังเมืองทะมูเมืองชายแดนในเขตมัณฑะเลย์ของเมียนมา ลงมาทางใต้ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ กรุงเนปิดอว์ และเมืองย่างกุ้ง ก่อนเข้าสู่ไทยที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเมืองมัณฑะเลย์เป็นจุดตัดสำคัญของทั้งสองเส้นทางหลักดังกล่าว ทำให้เมืองมัณฑะเลย์กำลังถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการค้าการลงทุนสำคัญในการเชื่อมโยงกับจีนและอินเดียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ อันจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยหลายประการผ่าน 1) เส้นทางการค้าใหม่ (New Trade Route) เพื่อเจาะตลาดจีนและอินเดีย 2) ฐานการผลิตแห่งใหม่ (New Production Base) เพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดจีนและอินเดีย และ 3) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ (New Tourist Destination) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

ปัจจุบันนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยเริ่มเข้าไปขยายการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ (Mandalay Industrial Zone) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมัณฑะเลย์ มีโครงการลงทุนมากกว่า 1,200 โครงการ อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ ถลุงเหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร นอกจากนี้ การลงทุนในมัณฑะเลย์ยังมีแต้มต่อจากการมีต้นทุนโดยเฉพาะค่าเช่าที่ดินและค่าสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่าเมืองย่างกุ้ง ประกอบกับการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก นักลงทุนไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปขยายการค้าการลงทุนในช่วงที่เมืองมัณฑะเลย์กำลังเติบโต พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของเมืองมัณฑะเลย์ในการเป็น Super Gateway เชื่อมโยงการค้าการลงทุนไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย

บทความโดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)