จากสายการบินแห่งชาติที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ!
วันนี้ บมจ.การบินไทยกลับตกอยู่ในภาวะ“ระส่ำหนัก” เป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการเป็นการเร่งด่วน ด้วยสถานะทางการเงินที่ง่อนแง่น ต้องแบกขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีมานี้กว่า 40,000 ล้านบาท
แม้ฝ่ายบริหารบินไทยจะคุยโอ่ผลประกอบการในปี 2559 ที่ผ่านมาทำได้ดีกว่าสายการบินใหญ่ๆในภูมิภาคเดียวกัน มีรายได้จากการประกอบการที่สูงกว่า 200,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 180,000 ล้านบาท และมีกำไรจากการประกอบการ 4,071 ล้านบาท แต่เมื่อสแกนลงไปดูใส้ในผลประกอบการข้างต้นกลับพบว่า เป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันกว่า 18,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนในการบริหาร ซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่ควรต้องปรับลด กลับทะยานขึ้นมาถึง 4,773 ล้านบาท ยังผลให้บินไทยมีกำไรสุทธิแค่ 47 ล้านบาทเท่านั้น
อ่านไม่ผิดหรอกครับรายได้ 200,000 ล้านกำไรสุทธิ 47 ล้านบาท….บร๊ะเจ้า!!!
ก็ไหนบอร์ดและฝ่ายบริหารบินไทยตีฆ้องร้องป่าวไปท่ัวทุ้งแคว้นก่อนหน้าว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลังและ “ซูเปอร์บอร์ด” ไฟเขียวให้โม่แป้งมาตลอดช่วง 1-2 ปีมานี้เดินมาถูกทางสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ห้ามเลือดหยุดไหลได้ผลชะงัก แต่ไหงวันนี้กลับกลายเป็น “หนังคนละม้วน”ไปซะได้!
ย่ิงเมื่อสแกนลงไปดูใส้ในกิจการบินไทยหลายฝ่ายย่ิงแสดงความเป็นกังวล เพราะแม้บินไทยจะมีทรัพย์สินในมือมากกว่า 200,000 ล้านบาท แต่ก็แบกหนี้ท่วมกว่า 300,000 ล้านบาท ทั้งยังมีผลประกอบการขาดทุนสะสมช่วง 3 ปีมานี้กว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้สินต่อทุน D/E Ratio ที่ธุรกิจโดยท่ัวไปเขามีสัดส่วนแค่ 0.5-1.5 / 1 คือมีหนี้พอๆกับทุนหรือหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของทุน แต่ในส่วนของบินไทยนั้นนัยว่า D/E Ratio ทะลักขึ้นไปกว่า 9-10 เท่าตัวไปแล้ว จึงไม่แปลกใจที่แค่จะกู้เงินมาเป็นทุนหมุนเวียนระลอกล่าสุดแค่ 5,000 ล้าน ก็ยังต้องให้คลังค้ำประกัน!!!
จึงย่ิงไม่ต้องพูดถึงการระดมเงินทุนอีกนับแสนล้านที่จะมาปรับเปลี่ยนฝูงบินใหม่ในอนาคตอันใกล้ และก็คงเพราะเหตุนี้กระทรวงการคลังจึงเข้ามีมีอิทธิพลควบคุมอำนาจบริหารบินไทยเกือบจะทุกกระเบียดนิ้ว แม้แผนฟื้นฟูกิจการที่ถูลู่ถูกกังใช้กันมานั้นจะออกน้ำออกทะเลกันไปยังไง ก็ยังต้องโอบอุ้มชูกันไป
และไม่เป็นที่แปลกใจที่เหตุใดในการประชุมผู้ถือหุ้นบินไทยครั้งล่าสุด เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายบริหาร และบอร์ดการบินไทยจึงถูกผู้ถือหุ้นน้อย-ใหญ่ถล่มจนแทบจะเสียศูนย์ และถึงขั้นที่สหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทยออกโรงยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ใช้ ม.44 ล้างบางบอร์ดการบินไทยเสียทีเพื่อแสดงความรับผิดชอบในความล้มเหลวการฟื้นฟูกิจการ
แต่ก็อีกน่ันแหล่ะบินไทยนั้นแข่งอะไรก็แข่งขันสู้เขาไม่ได้ แต่เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนาน่ะหายห่วง!
เช่นเดียวกับเผือกร้อนกรณีเพิ่มทุน “สายการบินนกแอร์” ที่กำลังทำเอาบินไทย กลืนไม่เข้า คายไม่ออกอยู่วันนี้ เพราะหากตัดสินใจลงขันเพิ่มทุนลงไป ตัวเองก็กลับไม่มีอำนาจควบคุมการบริหาร หรือร่วมกำหนดนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมท่ีจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทแม่ได้ แม้จะถือหุ้นใหญ่เกือบ 40% แต่ก็ไร้อำนาจบริหาร!
การบินไทยจึงอยู่ในสภาพ “น้ำท่วมปาก”
แม้จะเคยยื่น “โนตี๊ส” พร้อมจะใส่เงินเพิ่มทุนให้แต่จะต้องให้ “เสี่ยดุ๋ง-พาที สารสิน ซีอีโอนกแอร์” วางมือเปิดทางผู้บริหารใหม่เข้ามา เพื่อรับผิดชอบความล้มเหลวจากการที่ทำบริษัทขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเรื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเสียก่อน แต่ก็เจอฤทธิ์เดช “เสี่ยดุ๋ง” ย้อนศรเข้าให้ก่อนจะตีปี๊บไล่บินไทยควรหันไปดูเงาตัวเองก่อนจะดีไหม ขนาดบริษัทที่มีความพร้อมทุกด้าน แถมมีคลังหนุนหลังอยู่เต็มลำเรือยังขาดทุนสะสมบักโกรก แล้วจะมาโทษอะไรเอากับ “นกแอร์”
ว่าแล้ว “เสี่ยดุ๋ง”ก็เดินหน้าดึงจีนทุนใหม่จากจีนเข้ามาถือหุ้นแทนบินไทยที่กำลัง “อึ้งกิมกี่”ไม่รู้จะหารันเวย์ที่ไหนลง เพราะหากจะกลืนน้ำลายยอมซื้อหุ้นเพิ่มทุนไป ตนเองก็ไม่มีอำนาจจะไปกำกับหรือควบคุมฝ่ายบริหารนกแอร์อะไรได้
แถมสภาพบินไทยเองวันนี้ก็อยู่ในภาวะชักหน้าจะไม่ถึงหลัง หากจะต้องหาเม็ดเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนถือหุ้นของตนเอาไว้ก็คงถูกสัพยอก สภาพ “เตี้ยอุ้มค่อม” ตัวเองยังแทบเอาตัวไม่รอดยังดอดจะไปซื้อหุ้นเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม หลังบอร์ดบินไทยตัดสินใจ “ลอยแพ” นกแอร์ด้วยการยอม Dilute หุ้นที่ถืออยู่เกือบ 40% ลงไปโดยคาดหวังหลังการเพิ่มทุนนกแอร์ครั้งใหม่บินไทยจะเหลือสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 14-15%นั้น ก็ใช่ว่าจะทำให้บินไทย “ยกภูเขาออกจากอก” ได้
ตรงกันข้ามยังอาจจะโดนหางเลขถูกไล่ “เช็คบิล” ย้อนหลังเอาได้ทุกเมื่อ เพราะการที่บินไทยถูกลดสัดส่วนถือหุ้นใหญ่จากที่เคยถืออยู่เกือบ 40% ลงมาเหลืออยู่ราว 14-15% นั้น ไม่เพียงจะทำให้บินไทยเสียสิทธิ์ในการร่วมกำหนดนโยบายและสิทธิ์วีโต้ (Veto Right) ยังจะทำให้สถานะบินไทยแทบจะเป็นแค่ “ไม้ประดับ”ในสายการบินนกแอร์เท่าน้ัน เม็ดเงินลงทุนและหุ้นของรัฐที่ต้องเสียหายไปจากการถูก Dilute หุ้นในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ทำให้ทั้งบินไทยและคลังเสียหายไปด้วย จนอาจถูกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไล่เช็คบิลผู้เกี่ยวข้องกันเอาได้
เพราะหากกระทรวงการคลัง -และคนบินไทย จะได้ย้อนรอย ดูกรณี “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ไอซีที หรือดีอีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อ 25 สิงหา 2559 ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญาโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีที่ไปอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ(ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
เปรียบเทียบกรณีที่การบินไทย ที่ยอมปรับลดสัดส่วนถือหุ้นตัวลงในสายการบินนกแอร์ลงจาก 40% เหลืออยู่แค่ 14% นั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เพียงทำให้รัฐต้องสูญเสียความเป็นหุ้นใหญ่ สูญเสียเม็ดเงินลงทุนและยังสูญเสียสิทธิ์ Veto Right และอำนาจในการควบคุมและกำหนดนโยบายที่เคยมีลงไปแล้ว
เปรียบเทียบกรณีที่การบินไทย ที่ยอมปรับลดสัดส่วนถือหุ้นตัวลงในสายการบินนกแอร์ลงจาก 40% เหลืออยู่แค่ 14% นั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เพียงทำให้รัฐต้องสูญเสียความเป็นหุ้นใหญ่ สูญเสียเม็ดเงินลงทุนและยังสูญเสียสิทธิ์ Veto Right และอำนาจในการควบคุมและกำหนดนโยบายที่เคยมีลงไปแล้ว
การเพิ่มทุนกรณีนกแอร์ดังกล่าว ยังเปิดทางให้ฝ่ายบริหารนกแอร์ดึงพันธมิตรสายการบินอื่นๆ ที่อาจเป็นคูา่แข่งเข้ามาเสียบแทนบินไทยเอาได้อีก ซ่ึงกรณีดังกล่าวย่อมต้องถือว่ามีความเสียหายรุนแรงยิ่งกว่ากรณี “หมอเลี้ยบ”เสียอีก
อาจเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องถูกเช็คบิลย้อนหลังในลักษณะเดียวกันได้!!!
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การบินไทยในวันนี้กล่าวได้ว่าอยู่ในสภาวะที่คับขัน-ขาดหางเสือชัดเจน!!!
และก็ไม่รู้คนคลังและบอร์ดการบินไทยคิดอย่างไรกัน เพราะในภาวะที่องค์กรขาดหางเสือที่จะมาขับเคลื่อนองค์กรเช่นนี้ แทนที่คลังและบินไทยจะเร่งกระบวนการสรรหาผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาขับเคลื่อนหรือกอบกู้องค์กร ก็กลับพยายามจะยื้อกระบวนการสรรหาว่าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ให้งานเข้าซะงั้น
ขนาดกระบวนการสรรหาดีดียังเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส เล่นพรรคเล่นพวกกัน จนถึงขนาดที่พนักงานและสหภาพบินไทยก่อหวอดจ่อจะขับไล่บอร์ดทั้งคณะ แล้วจะไปเพรียกหาความร่วมมือจากพนักงานทั้งองค์กรได้อย่างไร!!!
เนตรทิพย์