ครม.อนุมัติ กลุ่มบีทีเอส ก่อสร้างและรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู แต่ยังต้องเคลียร์หน้าเสื่อส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมสร้างทางเชื่อมสายสีเหลืองเชื่อมสีเขียว และเส้นทางเชื่อมเข้าเมืองทองธานี คณะกรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกรอบมติ ครม.ที่อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 จึงไม่ควรกำหนดไว้เป็นแนบท้ายของสัญญาแต่ให้บรรจุเป็นภาพกว้างตีกันผูกมัด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. วงเงิน 54,000 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 52,000 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีผู้ชนะการประมูลคือ BSR Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ป, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ STEC พร้อมกับอนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีไม่เกิน 5 ปี คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้โดยเร็วที่สุด ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และใช้เวลาก่อสร้างพร้อมเปิดใช้งานในปี63
ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมที่ บีทีเอส กรุ๊ป ได้เสนอที่จะต่อเชื่อมสายสีชมพู โดยเชื่อมจากถนนแจ้งวัฒนะเข้าไปยังอาคารอิมแพคและทะเลสาบในเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. ,ส่วนสายสีเหลือง จะต่อเชื่อมจากสถานีลาดพร้าว MRT ผ่านหน้าศาลอาญาไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง2.6 กม. นั้น นายอาคม ระบุว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสังเกตว่า ส่วนเชื่อมต่อดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกรอบมติ ครม.ที่อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 แต่ในร่างประกาศเชิญชวนเอกชนได้กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนออื่นๆ ได้ จึงจะไม่มีการนำข้อเสนอดังกล่าวใส่ไว้ในแนบท้ายของสัญญา แต่จะเขียนไว้ในภาพกว้างๆรวมไว้ในสัญญาหลักภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และดำเนินการตามขั้นตอนของ พรบ.ร่วมทุน 2556 เป็นการกำหนดไว้แบบกว้างๆ
“เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่มีรายละเอียดผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ต้องมีการออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการจัดหาพื้นที่ การหารพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ของหน่วยงานใดและมีพื้นที่เอกชนบางส่วน ไม่ได้ตัดข้อเสนอนี้ แต่จะต้องไปทำการศึกษาให้เรียบร้อยก่อน”
ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า รฟม. ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวว่า เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนออื่นๆไม่ควรกำหนดไว้เป็นแนบท้ายของสัญญา จึงได้มีการพิจารณาและกำหนดไว้ในสัญญาหลักข้อที่ 36. 9 ในหัวข้อที่ว่าด้วยกรณีที่เป็นข้อเสนออื่นๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย คือจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและจัดทำรายงาน EIA จากนั้นจึงจะมีการวิเคราะห์รายละเอียดโครงการ และต้องดำเนินการตาม พรบ.ร่วมทุน 2556 หากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ก็สามารถที่จะเจรจาโดยจะให้มีการรวมไว้ในสัญญานี้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของคณะกรรมการตามมาตรา 43 ในพรบ.ร่วมทุน 2556 ที่จะเข้ามารับผิดชอบในการเจรจาต่อไป
“การดำเนินการส่วนต่อขยายทั้ง 2 โครงการนี้ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยกำหนดกรอบว่าจะต้องจัดทำรายละเอียดตามขั้นตอนและเสนอขออนุมัติจาก ครม.ภายในกรอบเวลา 3 ปี 3 เดือน หากไม่ดำเนินการภายในกรอบเวลาก็ถือว่าเป็นการยกเลิกข้อเสนอนี้ไป ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการหลังจากอนุมัติโครงการได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมโครงการ การจัดทำ EIA การเวนคืนที่ดินต่างๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมทั้งหมด เอกชนจะต้องรับภาระค้าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามผลการเจรจากับเอกชนก่อนหน้านี้ แต่ในสัญญาข้อ 39.6 จะไม่ได้กำหนดรายละเอียดใดๆ นอกจากระบุว่าข้อเสนอเพิ่มเติมจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการที่กำหนด”