การรถไฟฯโดนชำแหละเละอีกระรอกหลังดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่อง อีกแล้ว! ประมูลที่การรถไฟฯราคากลางสูงเวอร์เกือบ 300% ว่าหลังมีการเปลี่ยนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และมีการแต่งตั้งนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวงเป็นรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาเพื่อกำกับ เร่งรัด ติดตาม และตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยได้เน้นหนักไปที่การประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ของ ร.ฟ.ท.นั้น ทำให้การประมูลโครงการรถไฟทางคู่มีความเป็นธรรม กล่าวคือมีการปรับแก้ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างหรือทีโออาร์ (Terms of Reference) ให้เปิดกว้าง ส่งผลให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าร่วมประมูลได้
“ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำให้การประมูลโครงการรถไฟทางคู่เกิดความเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงผลงานหนึ่งของรัฐบาล ถึงกระนั้น การประมูลโครงการอื่นที่มีมูลค่าไม่สูงยังคงมีปัญหา กล่าวคือ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.กำลังอยู่ในระหว่างการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับซ่อมทางทั้งหมด 6 โครงการ มูลค่า 292 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) เครื่องดัดรางรัศมีจำนวน 8 เครื่อง วงเงิน 60 ล้านบาท (2) ชุด A-Frame หรือเครื่องยกราง จำนวน 322 ตัว วงเงิน 80.50 ล้านบาท (3) เครื่องแม่แรงดัดรางทางราบ 68 ชุด วงเงิน 40.80 ล้านบาท (4) เครื่องเจาะรูรางรถไฟ ขนาด 70-100 ปอนด์ จำนวน 161 เครื่อง วงเงิน 41.86 ล้านบาท (5) เครื่องตัดรางรถไฟขนาด 70-100 ปอนด์ จำนวน 161 เครื่อง วงเงิน 32.20 ล้านบาท และ (6) แม่แรงยกหัวต่อรางทางดิ่งอีก 34 ชุด 36.72 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6 รายการ 292 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ดร.สามารถ ยังเผยอีกว่าโครงการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากล 2 ประการ อย่างแรกกำหนดราคากลางสูงเกินจริงเกือบ 300% เพราะจากการเปรียบเทียบราคากลางกับราคาตลาดพบว่า ร.ฟ.ท.ตั้งราคากลางสูงเกินจริงมาก เช่น แม่แรงดัดรางทางราบมีราคากลางชุดละ 600,000 บาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ชุดละ 152,000 บาท หรือราคากลางสูงกว่าราคาตลาดถึง 295% อุปกรณ์ชุด A Frame ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับยกราง กำหนดราคากลางไว้ที่ตัวละ 250,000 บาท แต่ราคาที่ขายกันในตลาดอยู่ที่ตัวละ 86,000 บาท นั่นคือ ราคากลางสูงกว่าราคาตลาดถึง 190% c]tเครื่องเจาะรูราง 70-100 ปอนด์ มีการตั้งราคากลางเครื่องละ 260,000 บาท แต่ราคาในตลาดเครื่องละ 99,000 บาท หรือราคากลางสูงกว่าราคาตลาดถึง 163%
“ถัดมาคือเรื่องกำหนดสเปกไม่เปิดกว้าง ร.ฟ.ท.ได้กำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องได้รับมาตรฐานยุโรป (EC) หรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นการชี้ชัดไปที่มาตรฐานยุโรปเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่ ผู้ผลิตในประเทศอื่นก็สามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้มาตรฐานระดับโลกเช่นเดียวกัน เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น แต่ถูก ร.ฟ.ท.มองข้ามไป ถึงแม้ว่าได้มีการระบุ “หรือเทียบเท่า” ไว้ก็ตาม แต่ ร.ฟ.ท.ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบเอาไว้ ทำให้ผู้เสนออุปกรณ์ที่ไม่ใช่มาตรฐานยุโรปโดยตรงจะถูกตีตกได้โดยง่าย อีกทั้ง ร.ฟ.ท. ได้กำหนดให้ผู้ผลิตจะต้องมีผลงานการส่งออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ ทำให้ผู้ผลิตในบางประเทศที่เน้นการจำหน่ายภายในประเทศ หรือมีการส่งออกน้อยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ แม้สามารถผลิตอุปกรณ์ได้มาตรฐานสากลก็ตาม”
อย่างไรก็ดี ดร.สามารถ กล่าวปิดท้ายว่าความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวถูกทักท้วงจากผู้สนใจเข้าร่วมประมูลบางราย โดยผู้สนใจเหล่านี้ได้ทำหนังสือชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมไปยังนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาหรือชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น
“ผมไม่อยากจะเชื่อเสียงร่ำลืออย่างหนาหูว่าการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ทั้ง 6 โครงการดังกล่าวข้างต้นนั้นมีการวางตัวผู้ชนะการประมูลไว้เรียบร้อยร้อยแล้วทุกโครงการ ถึงขนาดมีการระบุรายชื่อผู้ที่จะชนะการประมูลทั้ง 6 โครงการส่งมาให้ผมดูไว้ล่วงหน้าเลย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ สั่งการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อทำให้การประมูลใน ร.ฟ.ท.มีความโปร่งใสและเป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดงบประมาณของประเทศ เช่นเดียวกับการที่ท่านได้สั่งการให้มีตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟทางคู่มาเมื่อไม่นานนี้”
เครดิตภาพจาก FB Dr.samart