รถใหญ่(ต้อง)ติด GPS
ปลดแอก “ความปลอดภัยทางถนน”ได้จริงหรือ?
หลังนายกฯลุงตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้จุดพลุสั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และส่วนที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุร้าย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยภายในประเทศ สร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความปลอดภัยทางถนน ความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติและภัยจากการก่อการร้าย ภายใต้วาระ “ประเทศไทยปลอดภัย” หรือ Safety Thailand โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว มีความปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
ควันหลงจากการจุดพลุของผู้นำประเทศ ทำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเด้งรับนโยบายดังกล่าวเป็นทิวแถว พร้อมกำหนดมาตรการให้เกิดรูปธรรมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หน่วยงานแรกที่ออกตัวแรงก่อนชาวบ้านชาวช่อง คงหนีไม่พันกรมการขนส่งทาง(ขบ.) กระทรวงคมนาคม โดยกรมฯได้ออกประกาศให้รถรถบรรทุก-รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) ภายใต้โครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS”
ทั้งนี้ ภายใต้ประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและรถตู้ (ยกเว้น รถสองแถว, รถหมวด 4 และรถหมวด 1 ภูมิภาค) รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 25 ม.ค.59 เป็นต้นไป ต้องติดตั้ง GPS ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามประกาศกรมฯ ทุกคัน ในส่วนของรถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันดังกล่าว ต้องดำเนินการติดตั้ง เชื่อมโยงข้อมูล หรือแก้ไขเครื่องบันทึกข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนดจึงจะสามารถดำเนินการต่ออายุทะเบียนรถได้
นอกจากนี้ รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่ติดตั้ง GPS ไว้แล้ว ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริการจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบกภายใน ปี 2559 ส่วนรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้ติดตั้ง GPS หากเป็นรถโดยสารสองชั้นกำหนดติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2559 ส่วนรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ จะต้องดำเนินการติดตั้งให้ครบถ้วนภายในรอบปีภาษี 2560 ส่วนรถลากจูงกำหนดติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2560 รถบรรทุกสาธารณะภายในรอบปีภาษี 2561 และรถบรรทุกส่วนบุคคลให้ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรอบปีภาษี 2562
จากประกาศฉบับดังกล่าว กลายเป็นปมร้อนฉ่ากระแทกกระดองใจผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยเข้าเต็มเปา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในหลายประเด็นตามมา และกลายเป็นประเด็นดราม่าที่ถกเถียงกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในหลากหลายมุมมอง ดังนั้น LT เสวนาประสา 10 ล้อฉบับนี้ ปีศาจขนส่ง ใคร่ประมวลมุมมองในเหลี่ยมความคิดที่ต่างๆกัน ทั้งในส่วนภาครัฐ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ประกอบการค่ายรถ
กรมฯ-ค่ายรถ ยัน GPS ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ประเดิมจากคุณสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกโรงร่ายเหตุผลการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารและรถบรรทุก พบว่า เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เข้ากับศูนย์บริการจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ความเร็ว ชั่วโมงการขับขี่ และตำแหน่งพิกัดของรถ
“การออกประกาศฉบับดังกล่าว ก็เพื่อยกระดับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก ภายใต้กรอบกติกเดียวกัน การติดตั้ง GPS จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถแบบเรียลไทม์ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อีกด้วย”
สอดคล้องกับมุมมองของคุณอำนวน พงษ์วิจารณ์ กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการค่ายรถบรรทุกยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ กล่วว่าต้องชื่นชมกรมฯที่ต้องการควบคุมมาตรฐานผู้ประกอบการขนส่งภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และยังจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของไทยอีกด้วย อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อการยกระดับมาตรฐานการผลิตของค่ายรถต่างๆ
‘หากค่ายรถใหญ่จะออกรถรุ่นใหม่มาก็ต้องติดตั้ง GPS ให้เสร็จสรรพมาตั้งแต่โรงงานเลย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าไปในในตัว จะบวกราคาเท่าไหร่ หรือจะมีโปรชั่นพิเศษอะไรก็แล้วแต่ข้อจำกัดของแต่ละค่ายรถ ส่วนมาตรการรองรับเรื่องนี้ของฮีโน่ ตั้งแต่รุ่น Hino Vitor 500 ที่เราเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว เราติดตั้ง GPS ซึ่งได้มาตรฐานที่กรมฯรับรองให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งสบายใจได้เลย’
เฮียยู-เฮียวอ ตีแสกหน้ากรมฯ “ไร้ศักยภาพ-ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”
ฟากฝั่งคุณยู “เฮียยู เจียรยืนยงพงศ์” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ออกโรงค้านหัวชนฝา พร้อมยกเหตุผลล่มกรมฯชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูว่า การที่กรมฯตีโป่งออกประกาศเยี่ยงนี้ เหมือนหมัดมือชกผู้ประกอบการขนส่งไทย ยังฝากคำถามให้กรมฯได้ขบคิดอย่างถี่ถ้วนและทำการบ้านหน่อย กรมฯได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบและรอบด้านหรือไม่ กรมฯมีความพร้อมบ้างหรือไม่ ที่จะดูแลควบคุมรถบรรทุกที่มากกว่าเกือบล้านคันได้ บุคลากรและเทคโนโลยีพร้อมหรือยัง หรือแค่อยากสนองนโยบายนายกฯลุงตู่เท่านั้น โดยที่ไม่สอบถามถึงความพร้อมของผู้ประกอบการ รวมถึงความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการในการกำหนดสเปก GPS ของผู้ประกอบการติดตั้งที่กรมฯรับรองมาตรฐาน ผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ไม่มีปัญหาหรอก แต่รายย่อยที่มากกว่า 80 % ที่ต้องรับภาระต้นทุนนี่ในการติดตั้งในราคา 8,000 -15,000 บาทโดยที่จะมีค่าสื่อสารรายเดือนประมาณ 250 – 350 บาท
ด้านคุณวรวิทย์ เจริญวัฒนพันธ์ อดีตนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ให้ความเห็นว่าการติดตั้ง GPS มีความจำเป็นและประโยชน์ในการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของยานพาหนะกลุ่มนี้เพื่อยกระดับความปลอดภัย และจะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้จริงๆหรือไม่ หรือมีการศึกษาหรือหลักฐานที่บ่งบอกถึงความมีประสิทธิภาพของระบบดังกล่าวในการช่วยลดอุบัติเหตุที่รอบด้านครบถ้วนหรือยัง และอยากฝากไปถามกรมฯว่าในเชิงการปรับใช้หรือความมีประสิทธิผลในการควบคุมความปลอดภัยโดยใช้ข้อมูลจากระบบดังกล่าว กล่าวคือหากมีการติดตั้งระบบติดตามแล้วทางหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบจะสามารถนำข้อมูลมาควบคุมความปลอดภัยของผู้ประกอบการได้จริงหรือไม่ อย่างไร และอาจถูกสังคมค่อนขอดว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็เป็นได้
หากจะว่าไปแล้วก็ต้องให้เครคิตกรมฯที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการยกระดับความปลอดภัยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลได้ง่าย และในเชิงปฏิบัติการผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กรมฯลืมคิดไปหรือเปล่าว่าความพร้อมของผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยมีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่อยากจะตีปี๊ปออกประกาศอะไรออกมาใช้ตามอำเภอใจ ก็อาจจะดูไม่สง่างามและอาจถูกตั้งสารพัดคำถามตามหลังมาถึงความโปร่งใสของภาครัฐ ที่อาจเปิดช่องให้เหลือบไรทั้งหลายเขมือบผลประโยชน์จากการประกาศฉบับดังกล่าว
และที่สำคัญอาจกลายเป็น “เครื่องมือ” ทำมาหากินของเจ้าหน้าที่รัฐน้ำเลว(บางคน)บนความเดือดร้อนของประชาชนตาดำๆก็เป็นได้