บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation) ในภูมิภาคเอเชีย ในกลุ่มบ้านปูฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2560 โดยมีรายได้ 1,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 1,737 ล้านบาท กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) คิดเป็น 1,384 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่1,046 ล้านบาท นอกจากนั้น ในไตรมาสนี้บ้านปู เพาเวอร์ฯ ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 77 เมกะวัตต์ เป็น 2,011 เมกะวัตต์เทียบเท่า และยังคงเดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลากหลายรูปแบบทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อขยายกำลังการผลิต ให้ได้ถึง 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568
นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลประกอบการของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในไตรมาสแรกของปี 2560 ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความต่อเนื่องของการดำเนินงานและรายได้ที่มั่นคงจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป.ลาว จีน และญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็มีความคืบหน้าในการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 2,011 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,857 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 154 เมกะวัตต์ ในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าหงสายังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าครบทั้ง 3 หน่วยผลิต ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hui’en และ Deyuan กำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ ก็ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรายังได้ลงนามในสัญญาเพื่อสิทธิ์ในการลงทุนโครงการ Xingyu ขนาด 10 เมกะวัตต์เพิ่มเข้ามาอีกด้วย สำหรับก้าวต่อไป บริษัทฯ จะมุ่งพัฒนาทุกโครงการตามแผนระยะ 5 ปี โดยเดินหน้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ”
นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังระบุอีกว่าสำหรับผลดำเนินงานของโรงไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ของบ้านปู เพาเวอร์ฯ นั้น ในประเทศไทย โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีรายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน 752 ล้านบาท ในสปป. ลาว โรงไฟฟ้าหงสา มีส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน 570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลบวกจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 3 หน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 1 สามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเต็มทั้งไตรมาสโดยไม่หยุดชะงัก ทั้งนี้ ผลกำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งข้างต้น ไม่ได้รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน* ส่วนแบ่งกำไรจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาในไตรมาสนี้จะสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปี 2558 ด้านประเทศจีน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าหลวนหนาน (Luannan) โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง (Zhengding) และโรงไฟฟ้าโจวผิง (Zouping) สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จำนวน 1,804 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายงานรายได้รวมจำนวน 127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 โดยมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 70 เมกะวัตต์ ของโครงการ Hui’en และ Deyuan ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
“บ้านปู เพาเวอร์ฯ มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำทั้งจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปอีก 484เมกะวัตต์เทียบเท่าจากโครงการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมโจวผิงระยะที่ 4 โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ซึ่งในขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วเสร็จอยู่ที่ร้อยละ 42 และโครงการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมหลวนหนานระยะที่ 2 โดยทั้ง 3 โครงการจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปีนี้ ปี 2562 และ 2563ตามลำดับ ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีเพิ่มอีก 107 เมกะวัตต์ จากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีนและญี่ปุ่นรวม 9 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2563 ที่จะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,600 เมกะวัตต์เทียบเท่า”
อย่างไรก็ดี นายวรวุฒิ กล่าวปิดท้ายว่าบ้านปู เพาเวอร์ฯ ได้สร้างการเติบโตของสินทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอยู่ เราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึง 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายใน ปี 2568 โดยมุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนด้านพลังงานในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะเดียวกันเรายังเน้นการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้กับโรงไฟฟ้าทุกโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ พร้อมควบคุมการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าในระดับภูมิภาคที่สร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน