แม้ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ชุดนี้จะพยายามทำคลอดนโยบายเร่งรัดการลงทุนมากมาย ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ การปลดล็อคกฎหมายที่เกี่ยวข้องและโดยเฉพาะล่าสุดการปลุกเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก หรือ“อีอีซี” แต่กระนั้นดูเหมือนเครื่องยนต์ลงทุนของภาคเอกชนยังสตาร์ทไม่ติด
ขณะที่เครื่องยนต์ในภาคส่งออกที่คาดหวังว่าจะพลิกฟื้นกลับมาในปีนี้ ก็ยังดูจะริบหรี่จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แถมยังเกิดความตรึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ ขึ้นมาด้วยอีก ทั้งยังเจอกับฤทธิเดชความบ้าระห่ำของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เที่ยวอาละวาดฟาดหางเศรษฐกิจโลกเข้าให้อีก ความหวังเดียวของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยามนี้จึงพุ่งเป้าไปที่การลงทุนของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในส่วนของโครงการลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายแหล่
แต่เมื่อสแกนลงไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ถือเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของรัฐทั้งหลาย หลายฝ่ายต่างแสดงความกังวลเพราะวันนี้ล้วนอยู่ในสภาพขาดหัวเรือต่างต้องอาศัยผู้บริหาร “ขัดตาทัพ” ขับเคลื่อนองค์กรแทบทั้งสิ้น!
รถไฟ-รฟม. ส่อลากยาวกระบวนการสรรหา
ไล่ดะมาตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ก่อนหน้านายกฯและหัวหน้า คสช. เพิ่งงัด ม.44 ปลดกราวรูดทั้งบอร์ดและผู้บริหารการรถไฟฯ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถสนองตอบนโยบายของรัฐในการเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ แถมยังปล่อยให้มีข้อครหาล็อคสเปคจัดซื้อเอื้อประโยชน์ให้รับเหมารายใหญ่ขึ้นมาด้วยอีก
ก่อนที่นายกฯ จะตั้ง นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวงและกรรมการบอร์ดรถไฟฯ เข้ามา ”ขัดตาทัพ” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการอาศัยเพียงรักษาการผู้ว่ารถไฟฯ ขับเคลื่อนองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนโครงการลงทุนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทนั้น จะคาดหวังความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด เพราะขนาดมีตัวจริงทำงานเต็มเวลาก็ยังขับเคลื่อนองค์กรไปไม่ถึงไหน
มาถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยิ่งไปกันใหญ่ แม้บอร์ด รฟม. ที่มี พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนซี้ “บิ๊กตู่” เป็นประธานจะรู้ล่วงหน้ามาแต่ต้นเป็นปีๆว่า นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. จะครบวาระในวันที่ 9 เมษายน 60 แต่แทนที่บอร์ด รฟม. จะริเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่กันไว้แต่เนิ่นๆ ก็กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อนแถมยังตั้งแท่นจะลากเรื่องกันไปเป็นปี ด้วยข้ออ้างระเบียบเปิดช่องให้รักษาการได้ถึง 1 ปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบสรรหา และเพิ่งจะมาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มี นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานไปเมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เอง
เช่นเดียวกับชะตากรรมของนายสุระชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก. ที่เพิ่งถูกนายกฯ “ปลดกลางอากาศ” โยกไปนั่งตบยุงอยู่ทำเนียบรัฐบาล ตามรอยผู้บริหารหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกนับสิบหลังจากที่ไม่สามารถผ่าทางตันปัญหาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี (NGV) “เจ็ดชั่วโคตร” กู้หน้าให้นายกฯ และรัฐบาลได้ และก็อาศัยรองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ถ่างเขารักษาการให้อีกหน่วยงาน
บินไทย 8 เดือนยังคืบไม่ถึงไหน
ข้ามฟากมายัง บมจ.การบินไทย รัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ แต่วันนี้กลับอยู่ในสภาวะที่แทบจะเรียกได้ว่า “ล้มละลาย ”แค่จะกู้เงิน 5,000 ล้านบาท ล่าสุดยังต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ ด้วยสถานะบินไทยวันนี้ต้องขาดทุนสะสมเกือบ 40,000 ล้านบาท ขณะปี 59 ที่ผ่านมาแม้จะคุยใหญ่โตว่ามีรายได้ทะลักกว่า 2 แสนล้าน และกำไรประกอบการแล้วหลังจากที่ต้องขาดทุนต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่กำไรสุทธิที่ว่านั้นก็แค่ 47 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ปัจจัยในเรื่องของราคาน้ำมันที่ต่ำลงและจำนวนผู้โดยสารนักท่องเที่ยวล้วนเอื้ออำนวยให้ทุกอย่าง แสดงให้เห็นถึงไส้ในของการบินไทยวันนี้ได้ดีว่าเป็นอย่างไร
มาถึงการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ “ดีดีบินไทย” ที่ต้องเร่งสรรหาเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร วันนี้ส่อจะลากยาวไปชาติหน้าอีกหน่วยงาน แม้ก่อนหน้าบอร์ดการบินไทยจะตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่มี สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เปิดรับสมัครว่าที่ดีดีคนใหม่มาตั้งแต่กันยายน 2559 เพื่อจะได้ “ดีดีใหม่” เข้ามารับไม้ต่อก่อนที่ นายจรัมพร โชติกเสถียร จะครบวาระในวันที่ 9 ก.พ. 60 แต่เมื่อ“เด็กป้ัน” ที่หมายมั่นป้ันมือจะให้เข้ามาเป็นทายาทรับไม้ต่อติดปัญหาด้านคุณสมบัติ แม้จะช่วยกันโอบอุ้มประวิงเวลากันเต็มที่ก็ยังปลดล็อกไม่ออก
สุดท้ายทั้งบอร์ดการบินไทย/และคณะกรรมการสรรหาจึงหันมาเล่น “เกมใต้ดิน” ส่อจะลากยาวกระบวนการสรรหาดีดีบินไทยออกไปชาติหน้าขึ้นมาซะงั้น ทั้งที่ทุกฝ่ายรู้กันอยู่เต็มอก วันนี้บินไทยจำเป็นต้องเร่งสรรหาผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาขับเคลื่อนฟื้นฟูองค์กร และหากแม้นกระบวนการสรรหาดีดียังเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส เล่นพรรคเล่นพวกกันจนน่าเกลียดและจนถึงขนาดที่พนักงานและสหภาพบินไทยพากันลุกฮือก่อหวอดร้องให้นายกฯ ปลดบอร์ดทั้งคณะเช่นนี้ แล้วจะไปเพรียกหาความร่วมมือและความโปร่งใสจากพนักงานทั้งองค์กรได้อย่างไร
การทางพิเศษฯ-กปภ. จ่อเจริญรอยตาม
ล่าสุด ก็มีกระแสข่าวสะพัดในกระทรวงคมนาคมขึ้นมาอีกว่า บอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เตรียมปลดผู้ว่าการ กทพ. อีกคน นัยว่าทำงานไปกันไม่ได้อีก ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)นั้น นัยว่าตัวผู้ว่า กปภ. นายเสรี ศุภราทิตย์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 59 ก็กำลังงานเข้าหลัง จากถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตีแสกหน้าในเรื่องคุณสมบัติและมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังบอร์ด กปภ.ให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องของคุณสมบัติอาจไม่ตรงตามเงื่อนไข แม้บอร์ดกปภ.จะเตะถ่วงกระบวนการตรวจสอบ แต่งานนี้หลายฝ่ายมองว่าสุดท้ายก็ตีกรรเชียงไม่พ้นอยู่ดี
การที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายต่อหลายแห่งขาดหัวขบวนขับเคลื่อนนโยบาย ต้องอาศัยข้าราชการเข้ามานั่งขัดตาทัพ หรือรักษาการให้เช่นนี้ ย่อมทำให้การทำงานขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ก็ขนาดตัวจริงของหน่วยงานยังทำได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ แล้วจะไปหวัง “ตัวสำรอง” หรือผู้บริหารที่ต้องทำหน้าที่“รักษาการ” มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรแทนได้หรือ?