ทช.ก่อสร้าง สาย ฉช.2004 เพิ่มศักยภาพคมนาคมฉะเชิงเทรา – สมุทรปราการ หนุนเศรษฐกิจภาคขนส่งสู่ “สนามบินสุวรรณภูมิ”สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมระยะทาง 10.925 กม.งบประมาณกว่า 1.4 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จสมบูรณ์ปี 70
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ฉช.2004 แยก ทล.34 – ทล.314 อำเภอบางปะกง และอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่าง ทล.34 (บางนา – ตราด) กับถนนสาย ฉช.3001 (ลาดกระบัง – ฉะเชิงเทรา) เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับสมุทรปราการ เป็นเส้นทางสนับสนุนการขนส่งของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทช. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ระยะทาง 10.925 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ดังนี้
– ตอนที่ 1 ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้าง 3.40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยกำแพงคอนกรีต เขตทางกว้าง 30 เมตร และ 44.30 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลอง 2 แห่ง ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 68 ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโครงสร้างทาง งานผิวทาง งานกำแพงกันดินพร้อมระบบระบายน้ำ และสะพานข้ามคลอง ก่อสร้างตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 6+500 – 10+925 ระยะทาง 4.425 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2568 ใช้งบประมาณ 549.50 ล้านบาท
– ตอนที่ 2 ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรถนนแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้าง 3.40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต เขตทางกว้าง 30 เมตร และ 44.30 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2 แห่ง และสะพานข้าม ทล.7 (มอเตอร์เวย์) 1 แห่ง ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 7 อยู่ระหว่างก่อสร้างงานกำแพงกันดิน พร้อมระบบระบายน้ำด้านข้าง ก่อสร้างตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 0+000 – 6+500 ระยะทาง 6.500 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2570 ใช้งบประมาณ 869.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์ สามารถใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับสมุทรปราการ พร้อมทั้งเป็นเส้นทางสนับสนุนการขนส่งของนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์กับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ เชื่อมโยงการเดินทาง และการขนส่งสินค้าไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ช่วยพัฒนาการคมนาคมในพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางเข้าสู่แหล่งชุมชนที่พักอาศัยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น