พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จฯเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชัยพรรษ เสริมสุวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ช่วยทำงานชั่วคราว ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 พลโทอมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจโทสุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกกฎาคม 2567 ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ โดยเฉพาะการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในอนาคต ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการบินให้สอดคล้องกับความต้องการของการขยายตัวของการเดินทางและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารงานโดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงประเทศไทยกับจุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก นำมาซึ่งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการริเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2543 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่งมีความหมายว่า “แผ่นดินทอง” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 จากนั้นปีงบประมาณ 2554 – 2560 ทอท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยได้มีการออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยตัวอาคารมีความสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รวมมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีหลุมจอดประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด สำหรับการตกแต่งภายในของอาคาร SAT-1 ออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลักเช่นกัน มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม ศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย โดยมีผลงานการตกแต่งชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก ส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดตั้งสุวรรณบุษบกและรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ เป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้เดินทาง ภายในชั้น 3 ของอาคารได้รับการออกแบบให้เป็นสวน ตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา โดยผลของความประณีตในการออกแบบตกแต่งดังกล่าว ได้ส่งผลให้คณะกรรมการ The Versailles Selection Committee ร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้คัดเลือกให้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) และได้มอบรางวัล Prix Versailles ประจำปี 2024 สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) ให้แก่ ทอท. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก (UNESCO) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส การเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิม 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี สำหรับทางวิ่งเส้นที่ 3 เป็นทางวิ่งที่มีความยาว 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของท่าอากาศยาน ขนานกับทางวิ่งเส้นที่ 1 เปิดใช้งานเมื่อเดือนตุลาคม 2567 โดยได้เพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากเดิมที่ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ยประมาณ 800 – 1,000 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนา ยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ก้าวเป็นท่าอากาศยานดีเด่นติดอันดับโลก และเป็นกลไกลสำคัญในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและระดับโลก (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยิ่งยืนในระยะยาวต่อไป