แห่งแรกของไทย!ทล.เตรียมสร้างสะพานกลับรถเคเบิ้ลนวัตกรรมใหม่ไร้เสาตอม่อ พลิกโฉมแบบสะพานกลับรถแบบเดิม บนถนนมิตรภาพสู่การยกระดับมาตรฐานทางหลวงไทยก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล แก้ไขปัญหาเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางบนงบประมาณ 400 ล้านบาท คาดเริ่มสร้างเดือนเม.ย.นี้แล้วเสร็จภายในปี 71
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และปลอดภัย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยในปี 2568 ทล. จะดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถเคเบิ้ลแบบแนวโค้ง (Horizontal Curve Cable – Stayed Bridge) แห่งแรกของประเทศไทย บน ทล.2 ถนนมิตรภาพ กม. ที่ 8 – 9 พื้นที่บ้านหลุบเลา ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ปัจจุบัน ทล. มีสะพานในความรับผิดชอบกว่า 17,219 แห่ง เดิมสะพานกลับรถเกือกม้าถูกออกแบบให้มีเสาตอม่อกลางถนนเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้าง ส่งผลกระทบต่อการจราจรและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การชนเสาตอม่อกลางถนน ทล. จึงพัฒนานวัตกรรมสะพานกลับรถแบบเคเบิ้ล โดยนำเทคนิคการออกแบบจากสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร – สะหวันนะเขต และสะพานเคเบิ้ลในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เป็นการพลิกโฉมแนวคิดการออกแบบสะพานกลับรถแบบดั้งเดิม โดยใช้หลักการออกแบบเชิงวิศวกรรมที่ทันสมัย ให้เคเบิ้ลรับน้ำหนักแทนเสาตอม่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำหนัก และลดการใช้เสาตอม่อกลางถนน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล อีกทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพิ่มทัศนียภาพที่สวยงาม และเปิดพื้นที่ด้านล่างสะพานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ออกแบบให้รองรับยานพาหนะทุกประเภท ด้วยความยาวของสะพานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชั้นดิน พร้อมรองรับการใช้งานในระยะยาว โดยคำนึงถึงความสวยงามทางสถาปัตยกรรม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ และคำนึงถึงข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเขตทางจำกัดและไม่มีพื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนเพียงพอต่อการก่อสร้างเสาตอม่อแบบปกติ เทคโนโลยีสะพานเคเบิ้ลจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและตอบโจทย์ลักษณะจำเพาะของพื้นที่ได้ดีที่สุดคุณลักษณะการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย สะพานกลับรถแบบเคเบิ้ล มีลักษณะโค้ง ยาว 330 เมตร รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร และจุดเด่นออกแบบสวยงาม โดยมีการติดตั้งไฟประดับ LED เพื่อเพิ่มความสวยงามในยามค่ำคืน

โครงการฯ ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2568 ใช้ระยะเวลา 1,080 วัน แล้วเสร็จภายในปี 2571 ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญของจังหวัดสระบุรี และเป็นต้นแบบให้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ปลอดภัย และโดดเด่นทางวิศวกรรม