กรมทางหลวง(ทล.)เร่งขับเคลื่อนโครงการ”ถนนวัสดุท้องถิ่น” ผนึกกำลัง 5 ศูนย์สร้างทางทั่วประเทศ ขยายผลโครงการต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยกระดับมาตรฐานถนนไทย

ดร.อรรถสิทธิ์ สวัสดิ์พานิช วิศวกรใหญ่ด้านวิจัยและพัฒนา กรมทางหลวง เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาการประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นโครงสร้างชั้นทาง พร้อมด้วย ดร.พลเทพ เลิศวรวนิช ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ผู้แทนจากศูนย์สร้างทางสังกัดกรมทางหลวง ได้แก่ ลำปาง หล่มสัก ขอนแก่น กาญจนบุรี และสงขลา ดร.อัคคพัฒน์ สว่างสุรีย์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ ในฐานะหัวหน้าโครงการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยสำนักวิจัยฯ ได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาพัฒนาการประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นโดยการปรับปรุงคุณภาพให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าวัสดุมาตรฐาน พร้อมกันนี้ ศูนย์สร้างทางทั้ง 5 ศูนย์ ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการคัดเลือกพื้นที่สำหรับจัดทำแปลงทดสอบ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันวางแผนการนำข้อมูลที่ได้จากการทดสอบมาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการใช้วัสดุท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายหลักของโครงการ ในการลดต้นทุนก่อสร้าง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานถนนไทย
ทั้งนี้ โครงการ “ถนนวัสดุท้องถิ่น” นับเป็นโครงการต้นแบบด้านวิชาการที่กรมทางหลวงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง มีจุดเริ่มต้นจากการศึกษาพฤติกรรมของทางหลวงที่ใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นโครงสร้างทาง บนทางหลวงหมายเลข 2275 ตอน ห้วยไร่ – บ้านกลาง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับรางวัล The Mino Best Project Award จากสมาคมวิศวกรรมงานทางแห่งเอเชียและออสตราเลเซีย (REAAA) ประจำปี พ.ศ. 2564 จากผลงานการออกแบบและก่อสร้างทางหลวงที่ใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นโครงสร้างชั้นทางด้วยแนวทาง Equivalency-Based Design พร้อมการตรวจวัดพฤติกรรมของโครงสร้างชั้นทางอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้พิจารณาคัดเลือกจากโครงการก่อสร้างทางหรือสะพาน ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซียโดยมีเป้าหมายหลักดังนี้
– แก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัสดุ: ลดการพึ่งพาวัสดุจากภายนอก และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
– ลดต้นทุนการก่อสร้าง: ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและขนส่งวัสดุระยะทางไกล
– ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ลดมลภาวะ ฝุ่นควัน และมลพิษจากการขนส่งวัสดุ และส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– ยกระดับมาตรฐานถนน: พัฒนาต่อยอดและขยายผลองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นในงานออกแบบก่อสร้างบูรณะปรับปรุงโครงสร้างถนนอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดในงานก่อสร้างของหน่วยงาน แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับ “ถนนไทยที่ยั่งยืน” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดงบประมาณของประเทศ และมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล กรมทางหลวงเชื่อมั่นว่า โครงการ “ถนนวัสดุท้องถิ่น” จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาถนนในอนาคต โดยจะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้กับโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทย